สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สวนคุณไพบูลย์ ลงคมชัดลึก


วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2556

ยกระดับ'สวนผลไม้'สู่สมาร์ทฟาร์ม

ทำมาหากิน : ยกระดับ 'สวนผลไม้' สู่สมาร์ทฟาร์ม ยึดหลักบริหารจัดการแก้ผลผลิตล้น : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 

                         ใครจะไปนึกว่าอดีตพนักงานสาวดีกรีปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจรั้งตำแหน่งใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์จำต้องลาออกจากงานประจำหันมาสวมหมวกเกษตรกรเต็มขั้นในฐานะลูกสาวเจ้าของสวนทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองชื่อดัง "นกกระจิบ" ที่ ต.นาตาขวัญ อ.เมือง จ.ระยอง หรือที่รู้จักกันในนาม "สวนลุงไพบูลย์" สำหรับ "คุณอ้อ หรือสุภาภรณ์ อรัญนารถ" สมาร์ทฟาร์มเมอร์สาวที่จำต้องเลือกทางเดินชีวิตใหม่ หลังผู้เป็นบิดา "ไพบูลย์ อรัญนารถ" มีปัญหาด้านสุขภาพไม่สามารถดูแลกิจการสวนทุเรียนได้

                         การเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย หากจะทำให้ประสบผลสำเร็จในทันที แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอ ในฐานะลูกหลานเกษตรกรที่เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์การทำสวนมาตั้งแต่เด็ก ก่อนมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อศึกษาวิชาตามที่ตัวเองถนัด กระทั่งเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นก็เข้าทำงานเป็นพนักงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทันที

                         ในขณะที่ชีวิตการงานกำลังก้าวหน้า ในที่สุดก็จำต้องทิ้งเงินเดือนหลายหมื่นเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านไปดูแลกิจการสวนทุเรียนของครอบครัว หลังผู้เป็นบิดามีปัญหาสุขภาพ จนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เธอในฐานะพี่คนโต ที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว จึงจำเป็นต้องรับภาระต่อที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

                         สุภาภรณ์เล่าว่า หลังกลับมาบ้านก็มาเริ่มเรียนรู้งานด้านการเกษตรใหม่ โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เป็นบิดาในเรื่องการบริการจัดการสวนผลไม้ ซึ่งผลไม้แต่ละชนิดจะดูแลเอาใจใส่ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็ได้ไปขอคำปรึกษาจากนักวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดระยองเพื่อแก้ปัญหาโรคที่พบบ่อยๆ เช่น โรคโคนเน่า รากเน่า รวมถึงการเสริมรากสำหรับทุเรียนปลูกใหม่เพื่อป้องกันการล้มง่ายเมื่อเจอลมพายุแรง

                         "เราต้องมาศึกษาก่อนว่าสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่าเกิดจากอะไร ซึ่งก็ตรงกับหลักสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อแรกที่มีความรู้ในอาชีพ และก็เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการดำเนินการต่อ เมื่อสอบถามนักวิชาการเขาก็บอกว่าเกิดจากเชื้อราไฟทอปเธอร่า เชื้อราชนิดนี้สามารถฟักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานานเมื่อสภาพแวดล้อม เช่นมีน้ำหรือมีความชื้นสูงเชื้อราก็เจริญเติบโตเข้าทำลายต้นทุเรียนโดยเฉพาะระบบราก จึงได้นำเชื้อไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma) มาป้องกันรักษาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปรากฏว่าไม่มีปัญหาอีกเลย"

                         ทายาทลุงไพบูลย์เผยต่อว่า หลังใช้เวลาบริหารจัดการสวนอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้ได้เรียนรู้ปัญหาต่างๆ มากมาย บางอย่างแก้ได้ทันที บางปัญหาก็ต้องใช้ระยะเวลา แต่ปัญหาที่ชาวสวนผลไม้ส่วนใหญ่ประสบพบเจอ หนีไม่พ้นขายผลผลิตไม่ได้ราคา ตลาดรองรับไม่มี ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มักเน้นการผลิตเป็นหลัก โดยไม่สนใจหรือวางแผนการตลาดล่วงหน้า ส่งผลให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคาต้องประสบภาวะขาดทุน จนเป็นที่มาของการปิดถนนประท้วงเพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

                         "ถ้าคุณมีของดี ผลผลิตดีมีคุณภาพ ราคาก็ไม่น่าห่วง แต่นั่นต้องหาตลาดให้เจอ สำหรับอ้อแล้วการผลิตที่มีคุณภาพจะต้องควบคู่ไปกับการตลาดเสมอการผลิตและการตลาดจะต้องไปด้วยกัน ผลผลิตจากสวนปลอดภัย 100% เพราะเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐานจีเอพี" สุภาภรณ์ให้มุมมองในฐานะนักการตลาดที่จำเป็นต้องวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับการตลาด

                         ซึ่งการดำเนินงานของสุภาภรณ์ ด้วยการใช้ด้านการตลาดนำผลผลิต ตลอดจนคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นหลักการสำคัญของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ก็ทำให้ประสบความสำเร็จในด้านการทำการเกษตรได้ไม่ยาก จึงไม่แปลกที่เธอได้นำทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง "นกกระจิบ" ซึ่งมีอยู่ประมาณ 150 ต้น บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ มาชูเป็นจุดขายของสวน

                         จากนั้นก็รุกทำการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางเพื่อให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค โดยมีโอกาสได้ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาแก้ปัญหาด้านการตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากมองว่าทุเรียนพันธุ์นี้น่าจะสามารถแข่งขันกับทุเรียนพันธุ์อื่นๆ ได้ไม่ยาก หากหาจุดเด่นให้เจอ จนในที่สุดจึงหาแนวคิดทำตลาดใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทุเรียนนกกระจิบ จากเดิมที่รอพ่อค้ามาตระเวนรับซื้อที่สวน เปลี่ยนมาเป็นการนำผลผลิตไปบุกกรุง โดยวางจำหน่ายที่ห้างเสรีเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพาราไดซ์) ย่าน ถ.ศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ปรากฏว่าลูกค้าให้ความสนใจขายได้เป็นเทน้ำเทท่า แม้ว่าจะตั้งราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาทก็ตาม

                         "ตอนนั้นไม่รู้จะไปขายที่ไหน พ่อค้าที่มารับซื้อจะเน้นเฉพาะหมอนทอง เพราะตลาดต้องการสูง ส่วนนกระจิบคนไม่ค่อยรู้จัก ก็จะขายให้ในราคาถูกๆ บางทีก็แถมไปกับหมอนทอง กิโลละ 15 บาท แต่ก็ยังดีกว่าขายไม่ได้เลย แต่พอขนไปขายที่กรุงเทพฯ ก็รู้สึกมีความหวังขึ้นมาว่ายังไงนกกระจิบก็ขายได้ไม่แพ้หมอนทอง ชะนี หรือก้านยาว เพียงแต่คนไม่รู้จักเท่านั้นเอง จากนั้นก็เลยเริ่มทำการประชาสัมพันธ์มากขึ้น ออกวิทยุ ลงหนังสือพิมพ์แล้วก็ทำเว็บไซต์ เมื่อเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น คนก็เริ่มสนใจมาซื้อถึงสวน จนไม่พอขาย ทำให้ทุกวันนี้ตลาดมาหาเราเองไม่ต้องไปเร่ขายหาตลาดข้างนอกอีกต่อไปแล้ว" สุภาภรณ์เปรียบเทียบการทำตลาดจากอดีตจนปัจจุบัน

                         เธอระบุอีกว่า โดยธรรมชาติของทุเรียนพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตก่อนทุเรียนพันธุ์อื่นๆ จึงทำให้สามารถขายได้ราคาในช่วงแรก ขณะเดียวกันก็มีรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากทุเรียนพันธุ์อื่นๆ ซึ่งหากินที่ไหนก็ได้ ที่สำคัญลูกเล็กเนื้อเยอะเมล็ดลีบ จึงทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เพราะชั่งออกมาแล้วน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 กิโลกรัมต่อลูก และเมื่อแกะเนื้อออกมาจะเห็นว่าปริมาณเนื้อนั้นมีความหนา จึงทำให้รู้สึกคุ้มค่าเมื่อซื้อมารับประทาน

                         สำหรับจุดเด่นของ "นกกระจิบ" นั้นถือเป็นทุเรียนพันธุ์เก่าแก่ดั้งเดิมของ จ.นนทบุรี คนในสมัยก่อนนิยมรับประทานทุเรียนพันธุ์นี้กันอย่างแพร่หลาย เพราะมีรสชาติดีเนื้อในเมื่อสุกเป็นสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ไม่แฉะหรือเละ รสหวานปนมัน เนื้อขณะยังห่ามๆ จะกรอบและหวานมันเมล็ดลีบ ให้เนื้อเยอะ ผลผลิตจะออกก่อนและหมดก่อนทุเรียนพันธุ์อื่น แต่เมื่อชาวสวนหันมาปลูกทุเรียนเป็นธุรกิจมากขึ้น ทำให้ทุเรียนพันธุ์อื่นๆ เช่น หมอนทอง ก้านยาวและชะนี กลายเป็นที่นิยมของชาวสวน เพราะสามารถขายได้ราคาดี รวมทั้งลูกใหญ่ได้น้ำหนัก จึงทำให้ทุเรียนโบราณพันธุ์พื้นเมือง รวมถึงทุเรียนนกกระจิบก็ค่อยๆ หายไปจากสวนทุเรียนเมืองนนท์ จะมีเหลืออยู่บ้างในบางสวน จนกระทั่งไพบูลย์ อรัญนารถ เกษตรกรชาวสวนผลไม้ใน จ.ระยอง ได้นำทุเรียนพันธุ์นี้จาก จ.นนทบุรี มาทดลองปลูกเพื่อเชิงธุรกิจอีกครั้งเมื่อกว่า 15 ปีก่อน จนประสบความสำเร็จกลายเป็นจุดเด่นของสวนในขณะนี้

                         ปัจจุบันสวนลุงไพบูลย์ นอกจากได้รับรองมาตรฐานจีเอพี จากกรมวิชาการเกษตรแล้วยังมีทุเรียนพันธุ์อื่นๆ อีกหลากหลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นหมอนทอง ชะนี หลงลับแล หลินลับแล และไม้ผลชนิดอื่นๆ เช่น ลองกอง เงาะ มังคุด

                         แม้วันนี้สุภาภรณ์จะไม่มีตำแหน่งใดๆ เป็นเครื่องการันตีเฉกเช่นผู้เป็นบิดา หากแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นพัฒนา ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสวนผลไม้ของตนเองเพื่อให้เป็นแบบอย่างกับสวนอื่นๆ และพร้อมจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพตามแบบฉบับ "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net

Tags : สวนผลไม้ ทำมาหากิน เกษตร สุรัตน์ อัตตะ

view