แตงโม
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นพืชเถาเลื้อยอายุสั้นฤดูกาลเดียว ปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกภาคแลtทุกฤดูกาล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหรือดินดำร่วน มีอินทรีย์วัตถุมากๆ ระบายน้ำดี ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังค้างต้องการความชื้นในดินสูงแต่ไม่ชอบแฉะ
* ปลูกได้ทุกฤดูกาล โดยมีระบบจัดการเรื่องน้ำเพียงอย่างเดียวให้ถูกต้องเท่านั้น
* อายุต้นตั้งแต่เริ่มงอกถึงออกดอก 20-25 วัน จากนั้นอีก 10-15 วันดอกก็พร้อมผสม อายุผลตั้งแต่ผสมติดถึงแก่เก็บเกี่ยว 30-40 วัน หรือตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยว 65-90 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ว่าเป็นพันธุ์เบาหรือพันธุ์หนัก และการปฏิบัติบำรุง
* การจัดแปลงปลูกแบบพื้นราบ นิยมปลูกเป็นพืชที่สองในนาหลังเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาวมีน้ำค้างแรง ช่วยสร้างความชื้นในดินให้แก่แตงโม กับทั้งมีความแห้งแล้งของสภาพอากาศช่วยจึงทำให้แตงโมมีรสชาติดี
การปลูกในภาชนะปลูก (ถุง) บรรจุวัสดุปลูก (ดินปลูกปรุงสำเร็จ) จัดวางภาชนะปลูกในที่ๆเหมาะสมต่อธรรมชาติของแตงโม เช่น ในโรงเรือน ยกภาชนะปลูกให้พ้นน้ำ (น้ำท่วม)แล้วจัดทำค้างให้เถาเลื้อยขึ้นไปพร้อมกับมีเครื่องยกผลให้สูงขึ้นพ้นพื้นหรือพ้นน้ำท่วม (สูตรของไต้หวัน-อิสราเอล) ก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะการปลูกในช่วงหน้าฝนซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยมากก็จะได้ราคาดี นอกจาก นี้วิธีปลูกในภาชนะปลูกยังสามารถควบคุมปริมาณน้ำ สารอาหาร และอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ง่ายอีกด้วย
* แปลงปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมควบคุมปริมาณน้ำได้สามารถปลูกได้ตลอดปี ส่วนใหญ่นิยมปลูก 3 รุ่น โดยรุ่นแรกปลูกเดือน ม.ค. เก็บเกี่ยวเดือน มี.ค.-เม.ย. ....รุ่น 2 ปลูกเดือน พ.ค. เก็บเกี่ยวเดือน ก.ค.-ส.ค. ....รุ่น 3 ปลูกเดือน ก.ย. เก็บเกี่ยวเดือน พ.ย.-ธ.ค. โดยรุ่น 3 จะมีคุณภาพดีที่สุดเพราะช่วงผลแก่ตรงกับหน้าแล้ง
* ฤดูหนาวเมล็ดพันธุ์งอกยาก แก้ไขโดยแช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศา + ไคตินไคโตซานหรือธาตุรอง/ธาตุเสริม ทิ้งไว้จนน้ำเย็น แล้วนำขึ้นมาห่มความชื้นในที่อบอุ่น (กลางแดด) เมื่อรากเริ่มงอกก็ให้นำไปปลูกได้
* ดอกตัวผู้ (โคนดอกกลม) กับดอกตัวเมีย (โคนดอกเรียวตรง) แยกกันคนละดอกแต่อยู่ในต้นเดียวกัน ในแต่ละต้นจะมีดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมียถึง 7:1(ดอกตัวผู้ 7 ดอก : ดอกตัวเมีย 1 ดอก)ดอกตัวเมียมักเกิดจากข้อที่ 3-4-9 และ 10 และต่อไปเรื่อยๆห่างกันดอกละ 4-5 ข้อใบ
การผสมเกสรต้องอาศัยแมลงเป็นหลัก ถ้าไม่มีแมลงก็ต้องช่วยผสมโดยเด็ดดอกตัวผู้ที่เกสรพร้อมผสมแล้ว ตัดกลีบดอกทิ้งไปเหลือแต่ก้านเกสรไว้ นำก้านเกสรตัวผู้ไปป้ายใส่ให้กับปลายก้านเกสรดอกตัวเมีย หรือใช้พู่กันขนอ่อนแห้งสนิทสะอาดป้ายเกสรตัวผู้ก่อนแล้วไปป้ายใส่เกสรตัวเมียก็ได้ ช่วยผสมเกสรช่วง 07.00-11.00 น.จะได้ผลดีที่สุด
* แปลงปลูกที่ปลอดสารฆ่าแมลงมานานมักมีผึ้งเข้าตอมเกสรช่วง 07.00-10.00 น.เสมอ ช่วงที่ผึ้งเริ่มเข้ามาในแปลงปลูกให้ถือกิ่งไม้เล็กๆแต่ยาวมีใบไล่ โดยโบกแกว่งไปมาช้าๆ พอให้ผึ้งเห็นแล้วรู้ตัวแต่ไม่ตกใจ เริ่มโบกกิ่งไม้ไล่จากหัวแปลงไปทางท้ายแปลง เมื่อผึ้งเห็นกิ่งไม้โบกไล่ไปมาจะบินขึ้นแต่ไม่ตกใจโผบินไปหาดอกต่อไปข้างหน้าระยะทางไม่ไกลนัก ปล่อยให้ผึ้งลงตอมดอกแตงโมดอกชุดใหม่สักครู่ก็ให้โบกกิ่งไม้ไล่อีก ผึ้งก็จะบินขึ้นโผไปหาดอกต่อไปข้างหน้าอีก ปล่อยให้ผึ้งตอมดอกแตงโมสักครู่ก็ให้โบก
กิ่งไม้อีก ผึ้งก็จะบินขึ้นโผไปหาดอกต่อไปอีก ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงท้ายแปลง ถึงท้ายแปลงแล้วถ้าผึ้งยังติดใจตอมดอกแตงโมอยู่ ก็ให้โบกกิ่งไม้ไล่จากท้ายแปลงย้อนมาทางหัวแปลงด้วยวิธีการเดียวกันอีก จะทำ 2-3 รอบ/วันก็ได้ตราบเท่าที่ผึ้งยังอยู่ หรือทำ 2-3 วันติดต่อกันจนกระทั่งแน่ใจว่าเกสรแตงโมทุกดอกได้รับการถ่ายละอองเกสรจนเป็นที่พอ
ใจแล้วก็ได้....การมีชันโรง (หากินเก่งและขยันหากินมากกว่าผึ้ง)หรือผีเสื้อสวยงามในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยให้ได้ประโยชน์อย่างมาก
* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์ เกิดจากขาดสารอาหารและฮอร์โมน หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
* แตงโมเป็นพืชอายุสั้นฤดูกาลเดียว อวบน้ำ ย่อมต้องการน้ำสม่ำเสมอ ช่วงออกดอกติดผลจะขาดน้ำไม่ได้เลย การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดจะช่วยแก้ปัญหาน้ำไม่สม่ำเสมอได้ดี
* การเตรียมสารอาหารไว้ในดินปลูกอย่างเพียงพอตั้งแต่ช่วงเตรียมดินจะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตเร็วและสม่ำเสมอดีกว่าการใส่สารอาหารภายหลัง ทั้งนี้ปริมาณสารอาหารที่จะไปหล่อเลี้ยงต้นนั้น 9 ใน 10 ส่วนไปจากดิน
* เมื่อผลโตได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของขนาดผลเมื่อโตเต็มที่ ควรใช้ฟางหรือหญ่าแห้งหนาๆรองผลเพื่อป้องกันผิวผลติดพื้นดิน แล้วให้กลับผลทุก 7-10 วันเพื่อให้ด้านที่ไม่ได้แสงแดดได้รับแสงแดด แล้วสีผลจะเข้มเท่ากันทั้งผล
* สังเกตผลแก่ โดยดูที่มือเกาะอันที่ใกล้ผลที่สุด เริ่มเหลืองและเริ่มแห้ง หรือนวลใบเริ่มจาง
* หลังจากเก็บผลมาแล้วปล่อยทิ้งให้ลืมต้น 2-3 วัน รสชาติจะดีขึ้น
สายพันธุ์
พันธุ์มีเมล็ด :
ฟลาวเวอร์ ดราก้อน-122.ทาร์นิการ์.ลูกผสม เอฟ-1. ตอปิโด.จินตหรา. ชาร์ลตันส์เกรย์ (ผลใหญ่ 9-10 กก.). บางช้าง. บางเบิด. เรดโคช ไฮบริด (เนื้อขาว). วานลี เอฟ-2(เนื้อขาว).
พันธุ์ไร้เมล็ด :
เยลโล เบบี้ ไฮบริด(เนื้อเหลือง). เฟ็งซาน เบอร์ 1 ไฮบริด(ผลใหญ่ 7-8 กก..นัมเบอร์วัน ไฮบริด. ซี้ดเลส. ฟาร์มเมอร์ วันเดอร์ฟูล ไฮบริด. ควอริตี้ (เนื้อเหลือง).
หมายเหตุ :
- พันธุ์ที่ไม่ได้ระบุสีคือพันธุ์เนื้อแดง
- พันธุ์ “ตอปิโด” มีคุณสมบัติทนฝนหรือปลูกหน้าฝนได้ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ
- อายุเก็บเกี่ยวระหว่างพันธุ์เบา-พันธุ์หนักต่างกันประมาณ 5-10 วันจึงไม่มีผลนักต่อแผนการปลูก
- สายพันธุ์ดั้งเดิมหรือนิยมปลูกกันมานานแล้ว เมื่อนำมาปลูกอีกสายพันธุ์มักผิดเพี้ยน เนื่องจากมีการผสมข้ามสายพันธุ์ไปมาโดยไม่รู้ตัวและไม่มีการควบคุมใดๆ
เตรียมเมล็ดพันธุ์
1.ทดสอบความสมบูรณ์เมล็ดโดยการแช่น้ำ คัดเมล็ดลอยออกทิ้ง นำเมล็ดจมขึ้นมาขลิบปลายด้านแหลมด้วยกรรไกตัดเล็บพอให้เปลือกนอกเปิดสำหรับให้ยอดอ่อนแทงออกมาได้สะดวก จากนั้นนำลงแช่ต่อในไคตินไคโตซานหรือธาตุรอง/ธาตุเสริม (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน)นาน 6-12 ชม. สารไคตินไคโตซานหรือธาตุรอง/ธาตุเสริมจะซึมเข้าสู่ภายในเมล็ดทางช่องเปลือกที่ได้ขลิบเปิดไว้ ทำให้เมล็ดได้สะสมสารอาหารไว้ในตัวเองตั้งแต่ก่อนงอกซึ่งจะส่งผลต่อต้นเมื่อโตขึ้นสมบูรณ์แข็งแรงดี
สารไคติเนส.ในไคตินไคโตซาน. มีคุณสมบัติกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับเมล็ดพันธุ์ได้ไม่ต่างจากสารเคมี การแช่เมล็ดในสารเคมีเพื่อกำจัดเชื้อโรคเท่ากับทำให้เมล็ดสะสมสารพิษซึ่งไม่ใช่สารอาหารไว้ในตัวเองตั้งแต่ก่อนเกิดนั่นเอง
2.นำเมล็ดที่ผ่านการแช่ในไคตินไคโตซานหรือธาตุรองธาตุเสริมครบกำหนดแล้ว ห่อด้วยผ้าชื้นต่ออีก 12-24 ชม. เมื่อเห็นว่าเริ่มมีรากงอกออกมาก็ให้นำไปปลูกต่อได้
เตรียมแปลง
ปลูกลงแปลง :
1.ไถดินเปล่าให้ขี้ไถขนาดใหญ่ ทิ้งตากแดดจัด 15-20 แดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคและกำจัดเหง้าวัชพืช
2.ใส่อินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ + มูลค้างคาว) หมักข้ามปี.ยิบซั่มธรรมชาติ.กระดูกป่น.เศษพืชบดป่น หว่านทั่วแปลงปลูกแล้วไถพรวนอินทรียวัตถุคลุกเคล้าลงดิน
3.ไถยกร่องลูกฟูก สันร่องกว้าง 5-6 ม.โค้งหลังเต่า สูงจากพื้นระดับ 30-50
ซม. ร่องทางเดินระหว่างสันแปลงกว้าง 1 ม. ลึก 20-30 ซม.จากพื้นระดับ
4.คลุมหน้าแปลงด้วยฟางแห้งหนาๆ
5.บ่มดินโดยรดด้วย น้ำ + จุลินทรีย์หน่อกล้วยหรือปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง ทุก 5-7 วัน ติดต่อกันนาน 1 เดือน เพื่อให้เวลาแก่จุลินทรีย์ปรับสภาพดิน กำจัดเชื้อโรคและย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นฮิวมิค แอซิด
6.ลงมือปลูกต้นกล้าที่เพาะล่วงหน้า หรือหยอดเมล็ด
ปลูกในถุง :
- ปลูกในถุงหรือภาชนะปลูก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18-24 นิ้ว สูง 30-50 ซม. เจาะรูด้านล่างและด้านข้างเพื่อระบายน้ำ จัดวางถุง ณ ตำแหน่งที่ต้องการปลูกให้แน่นอนมั่นคง หลังจากลงมือปลูกแล้วไม่ควรย้ายตำแหน่งวางถุงอีกเด็ดขาดเพราะอาจจะกระ
ทบกระเทือนรากหรือเถา (ต้น)ได้ การปลูกในช่วงฤดูฝนหรือแปลงปลูกที่น้ำท่วม แนะนำให้ทำยกร้านแล้ววางถุงปลูกบนยกร้านนั้น
หมายเหตุ :
- เกษตรกรอิสราเอล ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี กับอีกหลายประเทศที่มีเทคโนโลยีการเกษตรสูงและมีความเข้าใจเรื่องพืชอย่างแท้จริง ปลูกไม้ผลตระกูลเถาอายุสั้นฤดูกาลเดียว เช่น แคนตาลูป แตงโม แตงกวา ฯลฯ ในถุง (ภาชนะปลูก) ด้วยดิน (วัสดุปลูก) ที่สามารถควบคุมชนิด/ปริมาณสารอาหาร/น้ำได้ และปลูกในโรงเรือนที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ (อิสราเอลร้อน-แล้ง.....ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี หนาว)
เกษตรกรไทยไม่มีปัญหาร้อน-หนาว-แล้งจึงเหลือเพียงปัญหา “ดินหรือวัสดุปลูกและสารอาหาร” เท่านั้น การนำแนวทางบางอย่างของเกษตรกรในกลุ่มประเทศดังกล่าวมาประยุกต์ใช้บ้าง จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แนวทางเลือกแบบไทย-ไทย ต่อการปลูกไม้ผลตระกูลเถาอายุสั้นฤดูกาลเดียว คือ...
- เตรียมดินปลูกหรือวัสดุปลูกปริมาณ 1 ตัน ด้วย....เศษพืช (แกลบเก่าหรือรำหยาบ. ขุยมะพร้าว. ทะลายปาล์ม. เปลือกถั่วลิสง. ต้นถั่วหรือซังข้าวโพด. ฟาง. ฯลฯ) หลายๆ อย่างๆ ละเท่าๆกัน เพื่อความหลากหลาย บดป่นตากแห้ง 300 กก.....ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม 100 กก. มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา 30 กก. มูลค้างคาว 5 กก.) แห้งเก่าค้างปีหมักชีวภาพ .....ยิบซั่มธรรมชาติ 50 กก. ....กระดูกป่น 10 กก. ......ฮิวมิค แอซิด 100 กรัม. ....ดินดำร่วนหน้าดินตากแห้ง 500 กก.
- เตรียมน้ำสารอาหาร จุลินทรีย์และฮอร์โมน 100 ล.ด้วย...น้ำ 100 ล.+ จุลินทรีย์หน่อกล้วย 5 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 2 ล.+ เลือดสัตว์สด 1 ล.+ นมสัตว์สดหรือกลูโคส 1 ล.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม (ซื้อ)1 ล.+ ยูเรีย 10 กก.
- ผสมคลุกวัสดุปลูกทุกอย่างให้เข้ากันดีพร้อมๆกับพรมด้วยน้ำสารอาหารฯ ให้ได้ความชื้น 50-75 เปอร์เซ็นต์ เสร็จแล้วทำกอง หมักทิ้งไว้ 3-6 เดือน ระหว่างหมักช่วงนี้ถ้าอุณหภูมิในกองสูงถึงขนาดมีควันลอยขึ้นมา (ถือว่าดี)ให้กลับกองบ่อยๆ แต่ถ้าอุณห
ภูมิไม่สูงหรือไม่มีควัน (ถือว่าไม่ดี)ให้เติมยูเรียและจุลินทรีย์แล้วหมักต่อไปตามปกติ
- อุณหภูมิในกองเย็นลงหรือหมดควันแล้ว ให้กลับกองทุก 7-10 วันเพื่อถ่ายเทอากาศ หมักครบกำหนดแล้วได้ “วัสดุหรือดินหมักชีวภาพสำเร็จรูป” พร้อมใช้งาน
- บรรจุวัสดุปลูกหรือดินปลูกที่ผ่านการหมักดีลงถุงหรือภาชนะปลูกแล้วลงมือปลูกพืช (แคนตาลูป แตง โม แตงกวา ฯลฯ) ที่ต้องการต่อไป
ระยะปลูก
ปลูกบนแปลง :
ระยะปลูก 1.5 X 1.5 ม.หรือ 1.5 X 2 ม.หรือ 2 X 2 ม.แถวคู่เสมอกัน หรือแถวคู่สลับฟันปลาคิดเป็น 1 แถว...แปลงปลูก 1 แปลงปลูกได้ 2 แถว
ปลูกในถุง :
1.เตรียมภาชนะปลูก
2.บรรจุวัสดุปลูก (ดินหมักชีวภาพสำเร็จรูป) ลงถุงให้เต็ม อัดแน่นพอประมาณ คลุมปากถุงด้วยหญ้าหรือฟางแห้งหนาๆ
การปฏิบัติอื่นๆ เหมือนการปลูกแคนตาลูปในถุง ทั้งแบบให้เลื้อยไปบนพื้นหรือเลื้อยขึ้นค้าง
ระบบให้น้ำ :
1. ติดตั้งระบบน้ำหยดสำหรับให้น้ำและสารอาหารทางรากที่ปากถุง
2. ติดตั้งระบบสปริงเกอร์พ่นฝอยเหนือต้นสำหรับให้สารอาหารและสารสกัดสมุนไพรทางใบ
หมายเหตุ :
- กรณีปลูกในแปลงแล้วไม่มีระบบน้ำหยด เมื่อต้องการให้น้ำหรือสารอาหารทางรากสามารถทำได้โดยการปล่อยน้ำไปตามร่องระหว่างแปลงปลูก แล้วเพิ่มเติมด้วยน้ำพ่นฝอยจากสปริงเกอร์เหนือต้นฉีดพ่นน้ำลงพื้นเพื่อสร้างความชื้นหน้าดิน
- กรณีปลูกในถุงไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องอาศัยสปริงเกอร์เท่านั้น แม้แต่สปริงเกอร์แบบพ่นฝอยเหนือต้นก็ไม่เหมาะ เพราะน้ำที่สัมผัสปากถุงลงไปถึงดินปลูกไม่เพียงพอ ต้องใช้สปริงเกอร์พ่นฝอยเหนือต้น 1 หัว กับติดหัวสปริงเกอร์ที่ปากถุงอีกถุงละ 1 หัวเท่านั้น
ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อแตงโม
1.บำรุงระยะต้นเล็ก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ จิ๊บเบอเรลลิน 10 ซีซี.
+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำ 100 ล.+ น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง 200 ซีซี.+ 25-7-7(400 กรัม)ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง
- ให้น้ำปกติ วันละ 1-2 วัน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- เมื่อต้นเริ่มงอกขึ้นมาจากเมล็ดได้ 2-3 ใบ ควรมีหญ้าแห้งหรือฟางคลุมโคนต้นป้องกันแดดเผาหน้าดิน และรักษาความชื้นหน้าดินให้คงที่อยู่เสมอ
- เริ่มให้สารอาหารทางใบเมื่อได้ใบ 2-3 ใบแล้ว
- เมื่อต้นเจริญเติบโตได้ 4-5 ใบให้ตัดยอด จากนั้นต้นจะแตกยอดใหม่ 3-4 ยอด เรียกว่า “เถาแขนง” ให้บำรุงเลี้ยงเถาแขนงนี้ต่อไปตามปกติ เมื่อเถาแขนงทั้ง 3-4 นี้ยาวขึ้นให้จัดระเบียบเลื้อยเข้าหากลางแปลงโดยไม่ทับซ้อนบังแสงแดดซึ่งกันและกัน และเตรียมความพร้อมอื่นๆให้ดีเพราะจะต้องเอาผลผลิตจากเถาแขนงเหล่านี้
- เมื่อเถาแขนงโตขึ้นได้ความยาว 25-30 ซม. หรือ 20-25 วันหลังปลูก หรือเริ่มมีดอกแรก ให้พิจารณาเลือกเถาแขนงสมบูรณ์แข็งแรงที่สุดไว้ 3 เถาสำหรับเอาผล ส่วนอีก 1 เถาให้เลี้ยงไว้สำหรับช่วยสังเคราะห์อาหารแต่ไม่เอาผลโดยเด็ดดอกที่ออกมาทิ้งทั้งหมด
2.บำรุงระยะออกดอก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ.100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1 รอบ ฉีดพ่นพอเปียกใบ ช่วงเช้าแดดจัด
- ฉีดพ่นสารสัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำ 100 ล.+ น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง 200 ซีซี.+ 8-24-24(400 กรัม)/ไร่ ฉีดพ่นลงดินให้ทั่วแปลง
- ให้น้ำปกติ วันละ 1-2 ครั้ง/วัน หรือให้น้ำหยด 2 ช่วงๆละ 1-2 ชม./วัน
หมายเหตุ :
- ให้ก่อนวันเถาแขนงออกดอก 5-7 วัน
- จากเถาแขนงทั้ง 3 เถาที่เลี้ยงไว้เพื่อเอาผลนี้ เถาแขนงมักจะออกดอกพร้อมๆกัน โดยเริ่มออกดอกแรกตั้งแต่ข้อใบที่ 4-5 ซึ่งดอกชุดแรกนี้ให้เด็ดทิ้งทั้งหมด แล้วเริ่มไว้ผลแรกระหว่างข้อใบที่ 9-12 จำนวน 1 ดอก จากนั้นตามข้อใบต่อจากข้อเอาผลและข้อใบต่อๆไปจะมีดอกออกตามมาอีกทุกข้อ ก็ให้เด็ดทิ้งทั้งหมดอีกเช่นกัน ทั้งนี้ให้ไว้ผลเพียง 1 เถาแขนง/1 ผลเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลคุณภาพสูงสุด
- แตงโมบางสายพันธุ์อาจจะไว้ผล 2-3 ผล/1 เถาแขนงได้ กรณีนี้ต้องไว้ผลให้ห่างกันโดยมีใบคั่นอย่างน้อย 4-5 ใบ/1 ผล การไว้ผลมากกว่า 1 ผล/1 เถาแขนง ต้องมีสารอาหารอย่างเพียงพอจึงจะได้ผลคุณภาพสูง
- นิสัยของแตงโมออกดอกเองเมื่อได้อายุ โดยต้นสมบูรณ์กว่าจะออกดอกดีกว่าต้นสมบูรณ์น้อยกว่าเท่านั้น การให้ฮอร์โมนเสริมเพียง 1-2 ครั้ง จะช่วยให้ออกดอกดีและสมบูรณ์กว่าไม่ได้ให้เลย
- ถ้าจะไม่ใช้ปุ๋ยทางราก 8-24-24 ก็ให้ใช้ “น้ำละลายมูลค้างคาว + มูลวัวเนื้อ” แทนได้
3.บำรุง “ผลเล็ก – ผลแก่” เก็บเกี่ยว
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14 (200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม +ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน โดยการฉีดพ่นพอเปียกใบ ช่วงเช้าแดดจัด
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24(100 กรัม)/ต้น/20 วัน หรือ 1-2 กก./ไร่/20 วัน โดยละลายน้ำรดโคนต้น
- ให้น้ำปกติ วันละ 1-2 ครั้ง/วัน หรือให้น้ำหยด 2 ช่วงๆละ 1-2 ชม./วัน
หมายเหตุ :
- หลังจากติดเป็นผลแล้วให้จัดระเบียบเถาและใบ อย่าให้ใบบังแสงแดดต่อผล กับทั้งให้มีวัสดุ (ฟาง หญ้าแห้ง) หนาๆรองรับผล เพื่อไม่ให้ผิวผลสัมผัสผิวดิน ถ้าผิวผลสัมผัสพื้นดินอาจจะมีเชื้อโรคเข้าทำลายผิวผลได้
- ระยะผลตั้งแต่เริ่มมีเมล็ดจนถึงแก่เก็บเกี่ยวควรให้ฮอร์โมนน้ำดำ. เอ็นเอเอ.และฮอร์โมนไข่.1 ครั้ง เพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์และเขียวสดตลอดเวลา
- ก่อนเก็บเกี่ยวถ้าให้ทางใบด้วย 0-0-50 หรือ 0-21-74 หรือมูลค้างคาวสกัด (อย่างใดอย่างหนึ่ง)เพียง 1 รอบแล้วงดน้ำ 2-3 วัน จะช่วยให้ได้ความหวานสูงขึ้น
- ก่อนเก็บเกี่ยว 10-15 วัน สำรวจผล ถ้าด้านใดไม่ได้รับแสงแดด (สีเปลือกขาวเหลือง)ให้พลิกผลด้านนั้นขึ้นรับแสงแดด เพื่อให้สีเปลือกเป็นสีเดียวกันทั่วทั้งผล....
.....ด้านที่สีเปลือกขาวเหลืองเนื้อในจะมีคุณภาพไม่ดี