สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้วมังกร

แก้วมังกร

แก้วมังกร

ลักษณะทางธรรมชาติ :                       

* เป็นพืชอวบน้ำ  ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่มากจนแฉะหรือขังค้าง  ถ้าได้น้ำน้อยต้นจะเกิดอาการกิ่งก้านเล็กเรียว ยาวเก้งก้าง ไม่สมบูรณ์ ไม่ออกดอกติดผล แต่ถ้าได้รับน้ำมากเกินไปถึงต้นจะสมบูรณ์แต่ก็ไม่ออกดอกติดผล(เฝือใบ) เหมือนกัน                       

* ประเทศเวียดนามได้พัฒนาสายพันธุ์แก้วมังกรจนได้พันธุ์ดีเป็นที่ต้องการของตลาดถึง 13 สายพันธุ์  ในจำนวนนี้มีพันธุ์ฟานเทียส.   เป็นพันธุ์ดีที่สุด  ซึ่งประเทศเวียดนามได้ประกาศห้ามนำสายพันธุ์ออกนอกประเทศ แต่ฟานเทียส.ได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยแล้วเรียกว่าพันธุ์ เวียดนาม ก่อนประเทศเวียดนามจะประกาศห้ามนำออกนอกประเทศ                       

* แบ่งเป็นกลุ่มสายพันธุ์ได้แก่ พันธุ์เนื้อขาว.  เนื้อแดง. เนื้อชมพูอมแดง. เนื้อเหลือง.

* พันธุ์ผิวทอง (เหลือง) จากโคลัมเบียปลูกในเขตภาคกลางได้ผลไม่ดี  แต่ปลูกในเขต จ.เพชรบูรณ์ได้ผลผลิตดีมาก                               

* พันธุ์เนื้อสีแดงและสีเหลืองมีเกสรตัวผู้ไม่ค่อยสมบูรณ์ต้องอาศัยเกสรตัวผู้ของดอกต่างต้น โดยช่วยผสมด้วยมือจึงจะติดผลดกดี                       

* พันธุ์ไร้หนามไม่ใช่ไม่มีหนามเพียงแต่หนามสั้นมาก และเมื่อกิ่งแก่จัดหนามจะหลุดจากกิ่งเอง
                       
* ไม่มีใบเหมือนต้นไม้ผลทั่วๆไป  แต่อาศัยเปลือกสีเขียวของกิ่งหรือก้านทำหน้าที่แทนใบ
                       
* ตาดอกอยู่ที่ข้อใต้หนาม  ออกดอกได้ทั้งจากตาที่ข้อใต้หนามและจากตาที่ส่วนปลายสุดของกิ่ง
                       
* อายุดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวถึงดอกบาน 15 วัน                       

* อายุผลตั้งแต่ผสมติดหรือกลีบดอกร่วงถึงเก็บเกี่ยว 30 วัน
                                           
* ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ผสมกันเองหรือผสมข้ามดอกข้ามต้นได้                         

* ดอกบานพร้อมผสมช่วงหัวค่ำระหว่างเวลา 19.00 - 21.00 น.บานเพียงคืนเดียว  เมื่อถึงเช้าวันรุ่งขึ้นก็โรย
                       
* ออกดอกติดผลดีในฤดูกาลที่ช่วงกลางวันนานกว่ากลางคืน โดยช่วงเดือน เม.ย. - ต.ค. สามารถออกดอกได้ตลอด  หลังเก็บเกี่ยวไปแล้วอีก 15 – 20 วัน จะมีดอกชุดใหม่ตามออกมาอีก   ครั้นถึงช่วงเดือนพ.ย. –มี.ค.หรือช่วงอากาศหนาวเย็นจะพักต้นและไม่ออกดอก           

* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว                       

* ช่วงอากาศหนาวเย็นแม้จะออกดอกตามธรรมชาติได้แต่จำนวนดอกจะน้อยกว่าช่วงอากาศร้อน
                        
* การใช้สารพาโคลบิวทาโซลบังคับให้ออกดอกนอกฤดูสามารถทำได้แต่ผลที่ออกมาจะบิด เบี้ยวเสียรูปทรง คุณภาพไม่ค่อยดี                       

* การใช้ฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลลิน.(8 มก.)   อัลฟ่า เอ็นเอเอ.(150 มก.) หรือเบทา เอ็นเอเอ.(400 มก.)อย่างใดอย่างหนึ่ง  ต่อน้ำ  1 ล.  ฉีดพ่นพอเปียกใบ (กิ่ง) ก่อนดอกบาน 11 วัน จะช่วยให้ผลมีน้ำหนัก ความหวาน ความแน่นเนื้อ ความหนาเปลือก สีเนื้อ  สีเปลือก   และกลีบผล  มีคุณภาพดีขึ้น
                         
* ตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ฮอร์โมนวิทยาศาสตร์ และฮอร์โมนธรรมชาติ (ทำเอง)ได้ดีและเร็วมาก
                             
* กิ่งขนาดใหญ่  อวบอ้วน  ยาว 50 - 80 ซม. ออกดอกได้ดีกว่ากิ่งเรียวเล็กยาว
                       
* อาการเฝือใบสังเกตได้จาก จำนวนกิ่งมาก สีเขียวอ่อน แตกยอดใหม่เสมอ กิ่งเรียวเล็ก ยาวเก้งก้าง
                       
* กิ่งเล็กเรียวยาวเขียวอ่อน คือ ลักษณะงามแต่ใบจึงไม่ออกดอก  แก้ไขโดยเมื่อกิ่งนั้นยาว 1 - 1.20 ม.ให้เด็ดปลายกิ่ง 3 - 4 ข้อทิ้ง  หลังจากถูกเด็ดปลายแล้วกิ่งนั้นจะใหญ่และเขียวเข้มขึ้นซึ่งพร้อมต่อการออกดอกติดผลต่อไป                       

* เป็นไม้เลื้อยขึ้นสู่ที่สูงโดยมีรากทำหน้าเกาะยึดเหมือนพริกไทย  ดีปลี  พลูฝรั่ง  กล้วยไม้  ตราบใดที่มีความสูงให้เลื้อยขึ้นได้ก็จะเลื้อยขึ้นไปเรื่อยๆ ระหว่างกิ่งกำลังเลื้อยขึ้นไปอย่างไม่หยุดนี้โอกาสที่จะออกดอกมีน้อยมากแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ออกดอกติดผลเสียเลย   ซึ่งกิ่งหรือยอดที่กำลังเลื้อยขึ้นนี้สามารถออกดอกได้เช่นกัน ถ้าต้นมีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง                       

* อายุต้น 6-8 เดือนขึ้นไป   เมื่อกิ่งหรือยอดเลื้อยเกาะหลักขึ้นไปได้สูง 80-120 ซม.  จนสุดหัวหลักยอดนั้นจะชี้ลงเองแล้วพัฒนาเป็นกิ่งแก่ ซึ่งกิ่งแก่ชี้ลงนี้ออกดอกติดผลได้ง่ายและดีกว่ากิ่งชี้ขึ้น
                       
* กับต้นไม้ใหญ่ยืนต้นสูง 10-20 ม.แก้วมังกรจะอาศัยเกาะเลื้อยขึ้นไปจนถึงยอดสุดแล้วออกดอกติดผลได้เช่นกัน
                          
* รากที่เกาะหลักเพื่อยึดลำต้นของตัวเองให้ติดกับหลักนั้น  ช่วงแรกๆรากจะดูดซับความชื้นหรือธาตุอาหารจากหลักที่เกาะยึด เมื่อรากเจริญยาวจนลงไปถึงดินและแทงลงดินได้แล้วก็จะดูดซับธาตุอาหารจากดินเหมือนไม้พืชทั่วๆไป  ระหว่างที่รากใหญ่หรือรากประธานกำลังเจริญยาวลงสู่พื้นดินนั้นจะมีรากแขนงแตกออกมาเรื่อยๆขึ้นอยู่กับความชื้นหรือธาตุอาหารที่มีอยู่บนหลัก                             

* รากหาอาหารบริเวณหน้าดินตื้นๆ การใช้กาบมะพร้าวใหญ่คลุมโคนหลักหนาๆ กว้างทั่วเขตทรงพุ่ม  โรยทับด้วยอินทรีย์วัตถุ รากจะชอนไชอยู่กับกาบมะพร้าว ซึ่งนอกจากมีสารอาหารมากแล้ว ยังมีอากาศถ่ายเทสะดวกอีกด้วย
                                              
* การใช้หลักสำหรับเกาะเป็นวัสดุอุ้มน้ำอย่างท่อคอนกรีตหรือท่อยิบซั่มระบายน้ำขนาด 6 นิ้วปิดปลายท่อด้านล่าง  ฝังลงดินแล้วใส่น้ำเปล่าหรือน้ำผสมธาตุอาหารลงไปในท่อให้เต็มอยู่เสมอ น้ำที่ค่อยๆซึมออกมาตามผิวท่อนอกจากช่วยสร้างความชุ่มชื้นแล้วยังเป็นสารอาหารอีกด้วย                       

ข้อดีของหลักท่อระบายน้ำยิบซั่ม คือ น้ำสามารถซึมออกมตามผิวท่อได้ตลอดเวลา แต่มีข้อด้อยที่ไม่คงทน เมื่ออุ้มน้ำเป็นระยะเวลานานๆ (หลายปี) จะผุเปื่อยหรือไม่แข็งแรงจนเป็นเหตุให้หักล้มได้  ต่างจากเสาหลักไม้เนื้อแข็งแม้จะไม่มีน้ำซึมออกมาแต่ก็คงทนกว่าหลายเท่า                       

การเติมน้ำใส่ลงไปในท่อทำได้แต่ช่วงแรกๆที่ต้นยังเล็ก  ครั้นเมื่อต้นโตขึ้น  แตกกิ่งก้านเต็มหัวเสาแล้วจะไม่สะดวกนักต่อการเติมน้ำลงไปในท่องต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือพิเศษเข้าช่วย                        

* วิธีสร้างหลักให้ส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน 1.20 ม. เป็นความสูงเหมาะที่สุด  ยอดหลักมีไม้เนื้อแข็งทำเป็นสี่แฉกกากบาด  เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ม.  ปลายกากบาดมีไม้เนื้อแข็งยึดทั้งสี่ปลาย  กากบาดหัวเสานี้ใช้เป็นค้างให้กิ่งแก้วมังกรพาดแล้วชี้ปลายลงก่อนออกดอกติดผล                           

*  เป็นพืชอายุยืนหลายสิบปี   มีอัตราการเจริญเติบโตทางยาวเหมือนไม้ผลยืนต้นทั่วไปที่เจริญเติบโตทางสูง การใช้หลักที่เป็นวัสดุไม่คงทน ผุเปื่อยง่าย เมื่อต้นแก้วมังกรอายุมากขึ้นหรือทรงพุ่มหนา  น้ำหนักมาก  หลักอาจจะพังลงได้  การเลือกใช้หลักคอนกรีตตันประเภทเสารั้ว ขนาด 4 X 4  นิ้วหรือ  6 X 6  นิ้ว  หรือเสาไม้เนื้อแข็งขนาดเดียวกันจะทนทานกว่า                       

* เมื่ออายุต้นมากๆ  นอกจากมีน้ำหนักมากแล้วยังต้านลมอีกด้วยนั้น  แนะนำให้ฝังหลักลึก 1-1.20 ม. หรือมากกว่าจะช่วยให้หลักตั้งอยู่ได้นานโดยไม่ล้มเสียก่อน ทั้งนี้ การบำรุงแก้วมังกรตามแนว อินทรีย์ชีวภาพ นำ - เคมีวิทยาศาสตร์ เสริม ประจำและสม่ำเสมอจะทำให้ดินโคนหลักอ่อนส่งผลให้หลักล้มได้ง่าย
                         
* ต้นที่มีกิ่งน้อยๆ (30-50 เปอร์เซ็นต์) หัวหลักโปร่ง แสงแดดส่องทั่วทุกกิ่ง จะออกดอกติดผลดีกว่าต้นที่มีกิ่งมากๆจนหัวหลักแน่นทึบ แก้ไขด้วยการหมั่นตัดแต่งกิ่ง โดยตัดโคนกิ่งชิดหัวหลักและหมั่นตัดกิ่งแขนงที่งอกออกมาจากกิ่งประธานอยู่เสมอ                       

กิ่งแขนงไม่ค่อยออกดอกติดผลหรือออกดอกติดผลได้น้อยกว่ากิ่งประธาน การเหลือกิ่งน้อยๆจนหัวหลักโปร่งนอกจากช่วยลดน้ำหนักที่หัวหลักแล้วยังทำให้ลดการสูญเสียน้ำเลี้ยงอีกด้วย                       

* ต้นอายุมากๆหรือแก่จัด เริ่มให้ผลผลิตน้อยลง  แก้ไขด้วยวิธี  ตัดแต่งกิ่งแบบทำสาว   โดยตัดทิ้งกิ่งส่วนที่อยู่เหนือค้างออกทั้งหมด หรือตัดต้นที่เสาต่ำกว่าค้างให้เหลือส่วนตอเกาะเสาหรือหลัก 1 ม.  จากนั้นบำรุงเรียกกิ่ง(ใบ) อ่อนใหม่  เมื่อกิ่งอ่อนใหม่เจริญเติบโตขึ้นก็จะออกดอกติดผลเหมือนการปลูกด้วยต้นตอครั้งแรก
                                                     
* เทคนิคการบำรุงแบบให้มีธาตุอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องทั้งปีหรือหลายๆปีติดต่อกันโดยฝังซากสัตว์ (หอยเชอรี่  หัวปลา  พุงปลา  ซี่โครงไก่  กระดูกป่น) จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์อยู่เสมอ
                       
ซากสัตว์ผุเปื่อยใหม่ๆมีความเป็นกรดจัดมาก จึงไม่ควรฝังซากสัตว์ในระหว่างการพัฒนาของต้นช่วงสำคัญๆ (สะสมอาหาร-เปิดตาดอก-บำรุงดอก-บำรุงผล.) แต่ให้ฝังก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3-6 เดือน เพื่อให้เวลาแก่จุลินทรีย์ได้สลายฤทธิ์ความเป็นกรดจัดของซากสัตว์สดๆที่เริ่มผุเปื่อย  จนกลายเป็นอินทรีย์สารที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง                       

การใช้ซากสัตว์ผ่านกระบวนการหมักจนเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพพร้อมใช้ และปรับค่ากรดด่างแล้วแทนการฝังซากสัตว์สดๆ จะได้ผลดีกว่า                        

* เทคนิคล่อรากด้วยการใช้กาบมะพร้าวคลุมโคนต้นหนา 20-30 ซม.ทั่วพื้นที่ทรงพุ่ม  หว่านทับด้วยปุ๋ยคอกเสริมด้วยยิบซั่มธรรมชาติ กระดูกป่นและจุลินทรีย์ จะช่วยให้รากขึ้นมาหาอาหารบนกาบมะพร้าวที่มีอากาศถ่ายสะดวกส่งผลให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรงดีกว่าการปล่อยรากเดินอิสระใต้ผิวดิน                          

* ปุ๋ยคอก-ปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสำหรับแก้วมังกรอายุต้นให้ผลผลิตแล้วควรประกอบส่วน  ดังนี้   “มูลวัวเนื้อ/วัวนม10 ส่วน,  มูลไก่ไข่/ไก่เนื้อ/นกกระทา 3 ส่วน,   มูลค้างคาว 1 ส่วน,   ยิบซั่มธรรมชาติ 2 ส่วน,  กระดูกป่น 1 ส่วน”  คลุกเคล้าเข้ากันดีรวมเป็น 1 ส่วน นำมาผสมกับกาบมะพร้าวใหญ่ 1 ส่วน ใช้คลุมโคนหลัก
                         
* ตอบสนองต่อมูลค้างคาวดีมาก  ควรใส่มูลค้างคาวประจำ 1 กำมือ/ต้น/3 เดือน  ด้วยการหว่านทั่วทรงพุ่มหรือละลายน้ำรด                       

* ต้องการให้แก้วมังกรที่เลื้อยขึ้นถึงค้างบนหัวเสาแล้วแตกยอดใหม่เร็วและจำนวนมากๆ ให้ใช้หญ้าแห้งหรือฟางแห้งคลุมหัวเสาหนาๆ                       

* เริ่มห่อผลเมื่ออายุผล 15 วัน หรือ 2 สัปดาห์หลังกลีบดอกร่วง
                                   
* ตรวจสอบอาการอั้นตาดอกด้วยการใช้ปลายเล็บขูดผิวเปลือกบริเวณตุ่มตา (ใต้หนาม) ดูเนื้อในไต้เปลือก  ถ้าเนื้อในใต้หนามเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลแสดงว่าอั้นตาดอกดี เมื่อเปิดตาดอกจะออกเป็นดอก  แต่ถ้าเนื้อในใต้หนามเป็นเขียวแสดงว่ายังอั้นตาดอกไม่ดี  เปิดตาดอกไม่ออก                          

* ห่อผลแก้วมังกรด้วยถุงใยสังเคราะห์จะช่วยรักษาผิวและสีเปลือกได้ดีกว่าถุงห่ออย่างอื่น
                                      
* อายุผลครบกำหนดเก็บเกี่ยวหรือ 30 วันหลังกลีบดอกร่วง  สีเปลือกแดงดีแล้วสามารถปล่อยฝากต้นต่อไปได้อีก15 วัน  โดยสีเปลือกที่เคยแดงเข้มจะลดลงมาเป็นแดงอมชมพู   แต่ขนาดผลจะใหญ่ขึ้นรส  ชาติและน้ำหนักดีขึ้นไปอีก

* ช่วงที่ผลกำลังพัฒนาแล้วมีฝนตกชุก ให้บำรุงด้วย  "ธาตุรอง/ธาตุเสริม"  ถี่ขึ้นระดับวันเว้นวันจนถึงเก็บเกี่ยวจะช่วยให้คุณภาพผลดี  รสหวาน  เนื้อแน่น  เปลือกบาง  แต่ถ้าบำรุงด้วยธาตุรอง/ธาตุเสริมไม่ถึงจะทำให้รสเปรี้ยวหรือจืดชืด  เนื้อเหลว  เปลือกหนา

* ช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวแล้วมีฝนตกชุก  สีเปลือกจะไม่แดงแต่ยังคงเขียว  ให้บำรุงด้วยธาตุรอง/ธาตุเสริมถี่ๆ ระดับวันเว้นวันต่อไป  จนกระทั่งครบกำหนดวันเก็บซึ่งสีเปลือกยังเขียวอยู่  เก็บมาแล้วปล่อยทิ้งให้ลืมต้น 2-3 วัน  สีเปลือกจะเปลี่ยนจารเขียวเป็นแดงเอง  ส่วนรสชาติก็จะยังคงดีเหมือนเดิม

* ผลแก้วมังกรที่ได้รับธาตุรอง/ธาตุเสริมเต็มที่  เมื่อแกะผลด้วยมือ (ไม่ใช้มีดผ่า) เนื้อจะจับเหมือนวุ้นก้อนเล็กๆรสชาติดีมาก
                                                 
* ยืดอายุผลหลังเก็บเกี่ยวโดยเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องสาเซลเซียส.  ออกซิเจนผ่านได้ 4 ล./ตร.ม./ชม.จะสดอยู่ได้นาน 30-35 วัน                         

* กลีบดอกสดใหม่ปรุงอาหารประเภทยำหรือผัดน้ำมันหอยรสชาติอร่อยดี

สายพันธุ์                        
พันธุ์แม็กซิโก  :  ผลเล็ก   เนื้อขาว   เปลือกเหลือง   ขนาดผลเท่ามะระขี้นกผลใหญ่
พันธุ์ไต้หวัน   :  เนื้อแดง   เปลือกแดง   ขนาดผลเท่าพันธุ์ไทย                          
พันธุ์เวียดนาม  :  ผลใหญ่  เนื้อขาวครีม  เปลือกแดงอมชมพู  รสหวานจัด  กลีบใหญ่และห่าง     
พันธุ์ไทย     :  ผลเล็กกว่าพันธุ์เวียดนาม  เนื้อขาวครีม เปลือกแดงอมชมพู รสหวานอมเปรี้ยว  กลีบเล็กและ
              ถี่กว่าพันธุ์เวียดนาม

หมายเหตุ  :                       
- แก้วมังกรมีทั้งสายพันธุ์ดอก (ดอกมากแต่ไม่ติดผลหรือติดผลน้อย)  พันธุ์ผลดก และพันธุ์ผลไม่ดก  การเลือกซื้อกิ่งพันธุ์ต้องตรวจสอบชนิดของสายพันธุ์ให้แน่นอนเสียก่อนเสมอ                       
- ปัจจุบันได้มีผู้นำสายพันธุ์ใหม่ๆจากต่างประเทศเข้ามามากมาย การที่จะระบุว่าสายพันธุ์ไหนดีหรือไม่ดีนั้นผู้บริโภค คือ ผู้ตัดสิน เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจปลูกแก้วมังกรสายพันธุ์ใหม่ที่ผู้บริโภคยังไม่รู้จักจะต้องคิดให้รอบคอบก่อนเสมอ



การขยายพันธุ์                         
ชำกิ่งในถุง :
  
เลือกกิ่งแก่จัดตัดเป็นท่อนยาว 30-50 ซม.  ถ้าเป็นกิ่งช่วงปลายให้ตัดปลายยอดทิ้ง นำด้านโคนกิ่งลงจุ่มแช่ในฮอร์โมนไคตินไคโตซาน 20-30 นาที  นำขึ้นผึ่งลม  ทาแผลรอยตัดด้วยปูนกินหมาก ทิ้งให้ปูนแห้งแล้วจึงนำไปปักในถุงแกลบดำอัดแน่นลึก 5-6 นิ้ว  มีไม้หลักปักยึดป้องกันต้นโยก  เก็บในเรือนเพาะชำ  ให้น้ำสม่ำเสมอ ประมาณ 20 วันเมื่อรากเริ่มงอกก็จะมียอดแตกออกมาจากข้อ  บำรุงเลี้ยงจนยอดแตกใหม่โตสมบูรณ์เต็มที่หรือรากบางส่วนแทงออกมานอกถุงแล้วจึงนำไปปลูกในแปลงจริง ต้นที่ปลูกจากกิ่งชำไม่กลายพันธุ์  โตเร็วและให้ผลผลิตเร็ว......ถ้าใช้ยอดอ่อน กิ่งอ่อน กิ่งแก่ยาวน้อยกว่า 20 ซม. นำไปชำแล้วมักไม่ออกรากแต่จะเน่าตายไปเลย                       

ชำกิ่งในแปลงปลูก  :                                  
เลือกกิ่งแก่ขนาดยาว 50-120 ซม. ปักลงดินที่โคนหลักปลูกในแปลงจริงโดยหันด้านแบนของกิ่งแนบชิดหลัก  รัดด้วยเชือกพอหลวม 2-3 เปราะ   ปักกิ่งลึก 5-10 ซม.หรือให้ข้อจมดิน 2-3 ข้อ กลบดินโคนกิ่งให้แน่น  ใช้เศษหญ้าหรือฟางคุมหน้าดินและคุมทับกิ่งที่ปักชำเพื่อบังแสงแดด  หลังจากปักกิ่งลงไปแล้วให้น้ำพอหน้าดินชื้นอยู่เสมอและระวังอย่าให้น้ำขังค้างจนดินโคนต้นแฉะเกินไป  ประมาณ 15-20 วันกิ่งชำเริ่มแทงรากจากนั้นก็จะแทงยอด                         

ตอน :                                  
เลือกกิ่งแก่  กิ่งชี้ขึ้นดีกว่ากิ่งชี้ลง  ใช้มีดคมๆเฉือนกิ่งบริเวณใต้ตาเฉียงลง 45 องศา ลึกถึงแกนในทั้งสามด้าน แกะเปลือกกับเนื้อออกจนเหลือแต่แกนใน  ขูดเยื่อเจริญรอบแกนเหมือนการตอนกิ่งไม้ผลยืนต้นทั่วๆไป  ทาแผลด้วยฮอร์โมนเร่งราก (ทำเอง) จากนั้นจึงหุ้มด้วยตุ้มตอนขุยมะพร้าวตามปกติ  บำรุงไปเรื่อยๆประมาณ 20-30 วันก็จะมีรากออกมา  เมื่อเห็นว่ามีรากมากพอจึงตัดลงมาชำในถุงดำต่อไป                         

หักกิ่ง :                       
เลือกกิ่งกลางอ่อนกลางแก่หรือกิ่งแก่จัดอยู่ใกล้ๆวัสดุที่รากสามารถยึดเกาะได้ หักกิ่งให้เหลี่ยมฉีก 1 ด้านแล้วปล่อยไว้อย่างนั้นจะมีรากแทงออกมาจากรอยหักของกิ่ง  เมื่อมีรากแล้วให้ตัดลงมาชำในถุงดำต่อไป

เพาะเมล็ด :                            
เลือกผลแก่จัด  ขยำเมล็ดแยกจากเนื้อ  นำเมล็ดผึ่งลมให้แห้ง  ทิ้งไว้ 2-5 วันเพื่อพักตัวแล้วนำลงแช่ในไคตินไคโตซานนาน 12 ชม. นำขึ้นผึ่งลมให้แห้งอีกครั้งจึงนำไปเพาะในกระบะเพาะเมล็ดธรรมดา  กล้างอกขึ้นมาแล้วบำรุงเลี้ยงตามปกติและเมื่อต้นกล้าโตดีแล้วก็ให้ย้ายลงปลูกในแปลงจริงต่อไป ต้นที่เกิดจากการเพาะเมื่อโตขึ้นจะกลายพันธุ์                        



ระยะปลูก
                        
ระยะปกติ :
                       
- ปลูกแบบแถวเดี่ยวขวางตะวัน  ระยะห่างระหว่างต้น (หลัก) และระหว่างแถว 4 X 4 ม. หรือ  4 X 6 ม.
  ปลูกแบบนี้ทำให้ทุกหลักได้รับแสงอาทิตย์เท่าๆกัน                       
- ปลูกแบบแถวคู่ขวางตะวัน  ระยะห่างระหว่างแถว 4 ม.  ระยะห่างระหว่างต้น (หลัก) 2 ม. สลับฟันปลาเพื่อ
  ให้ทุกหลักได้รับแสงอาทิตย์                       
- ความสูงของหลักส่วนที่อยู่ดินสูง 1.20-1.50 ม.                        
ระยะชิด :                       
- 2 X 2 ม.  หรือ 2 X 4 ม.   แถวเดี่ยวหรือแถวคู่                       
- หลักสูง 80-100 ซม.                       
(เกษตรกรไต้หวันปลูกแก้วมังกรหลักสูง 50 ซม. ระยะห่าง 1 X 1 ม.)



เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ                         
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ  ปีละ 2 ครั้ง                       
- ให้กระดูกป่น  ปีละ 1 ครั้ง                         
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม  ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง หรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง                       

หมายเหตุ  :                       
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่  ปลาสด  เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/
  ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความ
  สมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน                         
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน  ผลหยุดขยาย
  ขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่  การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
                      
เตรียมต้น
                        
ตัดแต่งกิ่ง :
                      
- ใช้กรรไกตัดกิ่ง (ดัดแปลงพิเศษ) มีด้ามจับหรือใบกรรไกยาวๆ  ตัดกิ่งให้ชิดหัวหลัก
- กิ่งเก่าอายุมากหลายปีหรือกิ่งเคยให้ดอกผลมาแล้วหลายรุ่นให้ตัดออก ทั้งนี้ธรรมชาติของแก้วมังกรจะออกดอกติดผลจากกิ่งแตกใหม่ในปีนั้นดีและดกกว่ากิ่งแก่เก่าข้ามปี  และกิ่งใหม่ที่ออกในปีนั้นเลี้ยงดอกและผลได้ดีกว่ากิ่งแก่อายุหลายปี                       
- กิ่งใหม่แต่เป็นกิ่งคดงด  กิ่งเรียวเล็ก  กิ่งมีโรค  ให้ตัดออก                       
- ตัดกิ่งบังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก  ทำให้ทรงพุ่มบริเวณหัวหลักโปร่งจนแสงแดดส่องได้ทั่วถึงทุกกิ่ง  กิ่งได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งไม่ได้รับแสงแดด หรือได้รับแสงแดดน้อย                       
- การตัดแต่งกิ่งให้ตัดที่โคนกิ่งชิดหัวหลักเพื่อให้พื้นที่บริเวณหัวหลักโปร่ง ทำให้ไม่สะสมโรคและแมลง
- เลือกเก็บกิ่งแขนงที่แตกแยกออกมาจากกิ่งประธาน 2-3 กิ่ง  ระยะห่างกันมากๆไว้  ส่วนกิ่งแขนงอื่นๆโดยเฉพาะกิ่งที่อยู่ชิดกันเกินไปให้ตัดออก                         
- ต้นที่มีกิ่งน้อย (1 หลักมีกิ่ง 10-15 กิ่ง) ให้ผลผลิตดกและดีกว่าต้นที่มีกิ่งมากๆจนแน่นทึบ (เฝือใบ) และกิ่งมากทำให้น้ำน้ำหนักมากอาจทำให้หลักล้มได้อีกด้วย                                  
- นิสัยการออกดอกของแก้วมังกรไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
- ต้นอายุมาก (3-5 ปี ขึ้นไป)  กิ่งบนหัวหลักเป็นกิ่งแก่แน่นทึบ  นอกจากจะน้ำหนักมากจนทำให้หลักล้มได้แล้ว  ยังเป็นกิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อการออกดอกติดผลอีกด้วย  แก้ไขโดยการตัดแต่งเฉพาะกิ่งที่แก่จัดจริงๆออกทิ้งในการปฏัติจริงค่อนข้างยากเพราะแต่ละกิ่งจะประสานกันแน่นมากจนแยกไม่ออกว่ากิ่งไหนเป็นกิ่งไหน  กอร์ปกับ  กิ่งแก้วมังกรมีหนามสร้างความยุ่งยากในการทำงานอย่างมาก  ส่วนใหญ่เจ้าของสวนจะเลือกวิธี  ตัดกิ่งหัวเสาทิ้งทั้งหมดหรือตัดตามความสะดวก  ตัดออกให้มากที่สุดเท่าที่สะดวก (ตัดแต่งแบบทำสาว) แล้วบำรุงเรียกยอด (กิ่ง)ใหม่   ซึ่งการบำรุงเรียกยอดใหม่หลังตัดแต่งแบบทำสาวนี้  ถ้าบำรุงเรียกยอดใหม่ไม่ถึงหรือไม่เต็มที่จริงๆ  แก้วมังการหลักนั้นจะแตกยอดใหม่ไม่พร้อมกัน  ส่งผลให้การออกดอกติดผลในรุ่นปีการผลิตต่อมาไม่ดี  ต้องบำรุงเลี้ยงแก้วมังการหลักนั้นต่ออีก 1 ปี  จึงจะเข้ารูปแบบเดิมได้                        
ตัดแต่งราก :                       
- ต้นที่อายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งรากแต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นควรใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน                       
- ต้นอายุหลายปี  ระบบรากเก่าและแก่มาก  ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม                       
- ตัดแต่งได้ทั้งรากในดินและรากที่เกาะหลัก

ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อแก้วมังกร  
   
1. เรียกกิ่งอ่อน 
ทางใบ :   
- ให้น้ำ 100  ล. + 25-5-5 (400 กรัม) หรือ 46-0-0 (400กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + จิ๊บเบอเรลลิน 10 กรัม + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ ทุก 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 
ทางราก :               
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7 (½ กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน                
- ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                  

หมายเหตุ :                 
- เริ่มปฏิบัติหลังจากตัดแต่งกิ่ง                        
- แก้วมังกรเรียกใบอ่อน (ยอด) ชุดเดียวก็พอ                
- ขั้นตอนการเรียกิ่งอ่อนชุดใหม่นี้สำคัญมาก  กล่าวคือ  ถ้ากิ่งอ่อนชุดใหม่ในต้น (หลัก) เดียวกันออกไม่พร้อมกันทั้งต้น  จะทำให้การออกดอกไม่พร้อมกัน หรือออกไม่เป็นชุด  หรือออกแบบทยอยเป็นชุดเล็กชุดน้อย  ส่งผลให้ยากต่อการบำรุงเป็นอย่างมาก  แนวทางแก้ไข คือ  ต้องบำรุงเตรียมต้นตั้งแต่ก่อนตัดแต่งกิ่งให้สมบูรณ์จริงๆไว้ล่วงหน้าเท่านั้น               
- หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 5-7 วัน ถ้าต้นใดแตกกิ่งอ่อนดีน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม  เพราะถ้าต้นแตกกิ่งอ่อนไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นจะส่งผลเสียหลายอย่างตั้งแต่การเร่งกิ่งอ่อนเป็นกิ่งแก่  การสะสมอาหารเพื่อการออก  การปรับ ซี/เอ็น เรโช.  การเปิดตาดอก  ซึ่งจะออกดอกไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น และเมื่อดอกออกไม่พร้อมกันก็กลายเป็นผลไม่พร้อมกัน ทำให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนอย่างมาก......แก้ไขโดยต้องบำรุงเรียกกิ่งอ่อนให้ออกมาเป็นชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้นให้ได้               
- เมื่อใบอ่อน (ยอด) ยาวประมาณ 30-50 ซม.ให้เข้าสู่ขั้นตอนเร่งใบอ่อนให้เป็นใบแก่       

2. เร่งกิ่งอ่อนเป็นใบแก่
 
ทางใบ  :               
- ให้น้ำ 100 ล. + 0-21-74 (400 กรัม) หรือ 0-39-39 (400 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร  250  ซีซี.    ฉีดพ่นพอเปียกใบ  2 รอบ  ห่างกันรอบละ 5-7 วัน               
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                
ทางราก  :                
- ให้  8-24-24 (1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.               
- ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน               

หมายเหตุ :               
-  เริ่มปฏิบัติเมื่อกิ่งที่ต้องการให้ออกดอกยาวประมาณ 30 ซม.               
- ขั้นตอนการเร่งกิ่งอ่อนเป็นกิ่งแก่ในแก้วมังกรไม่จำเป็นนัก การปฏิบัติต้องระวังเพราะอาจจะทำให้กิ่งนั้นกลายเป็นกิ่งสั้นแต่แก่จัด แม้ออกดอกติดผลได้แต่ได้จำนวนดอกและผลไม่มาก               
- สารอาหารในกลุ่มเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ซึ่งมีฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม. นอกจากช่วยเร่งใบให้เป็นใบแก่แล้วยังช่วยเสริมประสิทธิภาพขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกได้ด้วย               
- กิ่งหางหนูเรียวเล็กยาวหรือกิ่งปกติแต่ค่อนข้างยาว ถ้าต้องการให้กิ่งนั้นแก่และไม่ยาวต่อไปอีกให้เด็ดปลาย  2-3ข้อทิ้งไป  กิ่งนั้นจะไม่เจริญทางยาวแต่เจริญทางข้างจนกลายเป็นกิ่งใหญ่ได้             

3. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
                  
ทางใบ  :               
สูตร 1
               
- ให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100  ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร  250  ซีซี.                  
สูตร 2                  
- ให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนไข่  50 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร  250 ซีซี. ในรอบ 7 วันให้สูตร 1 สลับกับสูตร 2 อย่างละครั้ง  ฉีดพ่นพอเปียกใบติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือน
ทางราก  :               
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24  หรือ  9-26-26 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน                 
- ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                  

หมายเหตุ  :               
- เริ่มปฏิบัติเมื่อกิ่งที่ต้องการให้ออกดอกติดผลยาวประมาณ 50-80 ซม.               
- ปริมาณการให้  8-24-24  หรือ 9-26-26  มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผลรุ่นที่ผ่านมา ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลดกมากให้ใส่ตามอัตรากำหนดหรือใส่มากขึ้น ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลน้อยหรือไม่ติดเลยให้ใส่ต่ำกว่าอัตรากำหนดหรือใส่ปานกลาง                 
- แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2-2 เดือนครึ่ง 
- ปริมาณสารอาหารเพื่อการสะสมตาดอกที่ต้นได้รับจำนวน 3 ใน 4 ส่วน ไปจากดินที่ผ่านการเตรียมมาอย่างดี ส่วนการให้ทางใบเป็นเพียงเสริมเท่านั้น                       

4. ปรับ ซี/เอ็น เรโช
                 
ทางใบ  :               
สูตร 1
               
- ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56(400 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
สูตร 2                
ให้น้ำ 100  ล. + ฮอร์โมนไข่  50 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ในรอบ 7 วันให้สูตร 1 สลับกับสูตร 2  อย่างละครั้ง  ฉีดพ่นพอเปียกใบไม่ให้ตกลงพื้น
ทางราก :               
- เปิดหน้าดินโคนต้นให้แสงแดดส่องถึง               
- งดให้น้ำเด็ดขาด   สวนยกร่องน้ำหล่อจะต้องสูบน้ำออกให้หมด               

หมายเหตุ  :               
- เริ่มปฏิบัติเมื่อได้สะสมอาหารจนต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่และสภาพอากาศเอื้ออำนวย               
- ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงขั้นต่อไป คือ ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกกิ่งอ่อนแล้วกิ่งอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่ ถ้ากิ่งอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ปรับ ซี/เอ็น เรโช.ต่อไปได้เลย  แต่ถ้ากิ่งอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากก็ให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้กิ่งอ่อนชุดหลังสะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับกิ่งอ่อนชุดแรกจากนั้นจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช.  ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง
- จากประสบการณ์ตรงพบว่าการปรับ ซี/เอ็น เรโช ด้วยวิธีงดน้ำและเปิดหน้าดินโคนต้นนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็น  เพราะแก้วมังกรเป็นพืชอวบน้ำ  แม้จะงดน้ำอย่างไรใบหรือกิ่งก็ไม่สลด  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเน้นที่การบำรุง  “สะสมอาหารเพื่อการออกดอก”  เป็นหลัก               
- ต้นที่มีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สดเพิ่มอีก  แต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ  แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์ทางใบอีกซ้ำอีก 1 รอบ  โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 20-30 วัน                 
- มาตรการเสริมด้วยให้แสงไฟขนาด 60-100 วัตต์ช่วงหลังพระอาทิตย์สิ้นแสงวันละ 2-3 ชม.และก่อนพระอาทิตย์ขึ้นอีก 1-2 ชม.ติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์จะช่วยให้เกิดการสะสมเพิ่ม ซี.และลด เอ็น.ได้มาก
   
5. สำรวจความพร้อมของต้น
                  
- ก้านใหญ่   สีเปลือกเขียวเข้ม  ปลายก้านโค้งมนด้วน               
- ตุ่มตาใต้หนามนูนยาวชี้เข้าหากลางกิ่งทั้งสองด้านของกิ่ง               
- สีหนามเป็นสีน้ำตาลไหม้หรือดำคล้ำ   แข็ง  เมื่อใช้ปลายนิ้วสะกิดเบาจะหลุดร่วง                
- ตรวจตาด้วยการสุ่มดึงหนามใดหนามหนึ่งขึ้นมาดู  ถ้าเนื้อใต้หนามเป็นสีเหลืองแสดงว่าอั้นตาดอกดี  แต่ถ้ายังเป็นสีเขียวอยู่แสดงว่าอั้นตาดอกไม่ดี               

หมายเหตุ               
เริ่มปฏิบัติพร้อมๆกันกับการปรับ ซี/เอ็น เรโช       

6. เปิดตาดอก
                     
ทางใบ :               
วิธีที่ 1
               
- ในรอบ 7 วันให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  1 รอบกับให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี. + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. อีก 1 รอบ  ฉีดพ่นพอเปียกใบ  อย่าให้ลงถึงพื้น
วิธีที่ 2               
- ใช้ฮอร์โมนเปิดตาดอกแก้วมังกรโดยเฉพาะ โดยใช้ปลายเล็บขูดผิวเปลือกบริเวณตุ่มตา (ใต้หนาม) ออกก่อนแล้วใช้ปลายพู่กันจุ่มฮอร์โมนเข้มข้นทาหรือป้ายบนผิวเปลือกที่ขูดนั้น   ฮอร์โมนจะซึมผ่านเข้าสู่ภายในได้ดีขึ้น  ใช้ฮอร์โมนป้ายตาอั้นตาดอกเต็มที่แล้ว 2-3 ตา/กิ่ง  แต่ละตาห่างกัน 2-3 ข้อ                
ทางราก  :               
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น               
- ยังคงงดน้ำ               

หมายเหตุ :               
- เริ่มปฏิบัติหลังจากต้นมีอาการอั้นตาดอกเต็มที่และสภาพอากาศพร้อม                
- แก้วมังกรตอบสนองต่อปุ๋ยน้ำชีวภาพและฮอร์โมนธรรมชาติ (ทำเอง) ดีมาก การใช้เพียงฮอร์โมนไข่ที่มีสาหร่ายทะเลเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยเปิดตาดอกก็สามารถออกดอกได้ ถ้าต้นได้รับการสะสมอาหารเพื่อการออกดอกและปรับ ซี/เอ็น เรโช.มาดี               
- ถ้าดอกออกมาไม่มากพอ ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้น ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบด้วยสูตรเดิม
หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ     

7. บำรุงดอก
                 
ทางใบ :               
- ให้ น้ำ 100 ล. + 15-45-15 (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + เอ็นเอเอ. 100ซีซี. + ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ทุก 5-7 วัน
-  ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
ทางราก :               
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น               
- ให้ 8-24-24 (1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.                   
- ให้น้ำเล็กน้อยพอต้นรู้ตัว  ทุก 2-3 วัน               

หมายเหตุ :               
- เริ่มปฏิบัติเมื่อดอกขนาดเท่าปลายตะเกียบหรือเมล็ดถั่วเขียว               
- ดอกแก้วมังกรบานและต้องการผสมเกสรช่วงกลางคืน (19.00-21.00) โดยลมพัด  ถ้าไม่มีลมพัดช่วยส่งละอองเกสรตัวผู้ก็ต้องช่วยผสมด้วยมือ  โดยเด็ดดอกแก้วมังกรจากต้นอื่นไปแหย่ใส่ให้กับอีกดอกหนึ่ง  โดยให้ละอองเกสรตัวผู้ของดอกที่เด็ดมาสัมผัสกับเกสรตัวเมียของต้นที่เก็บดอกไว้  หรือเก็บเกสรตัวผู้ใส่กล่องพ่นเกสร (ใช้ผสมเกสรทุเรียน-สละ) ฉีดพ่นใส่ดอกที่กำลังบานก็ได้ ผลที่เกิดจากดอกที่ได้รับการช่วยผสมด้วยมือจะเป็นสมบูรณ์และขนาดใหญ่เสมอ               
- ดอกแก้วมังกรบานพร้อมผสมแล้วมีฝนตกชุก  ผลที่เกิดมาจะเล็กหรือแคระแกร็น               
- ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็นหรือระยะดอกตูม บำรุงด้วยฮอร์โมนเอ็นเอเอ. 1 รอบ จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม แต่ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล               
- ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.  1 รอบ  จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี
- ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสัดสมุนไพรบ่อยขึ้น เพื่อป้องกันโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน
- ช่วงดอกบานงดการฉีดพ่นทางใบ เพราะอาจทำให้เกสรเปียกชื้นจนผสมไม่ติดได้
- ระยะดอกบานถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด แก้ไขโดยกะระยะให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดได้เช่นกัน แก้ไขโดยการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดิน ทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก.......มาตรการบำรุงต้นและดอกให้สมบูรณ์อย่างแท้จริงอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก 
- เพื่อความมั่นใจในเปอร์เซ็นต์หรือประสิทธิภาพของฮอร์โมน เอ็นเอเอ. แนะนำให้ใช้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.วิทยาศาสตร์แทนฮอร์โมน เอ็นเอเอ.ทำเองจะได้ผลกว่า                       
- ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก  ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้
- บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น  “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน”  โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก  ให้เดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้      

8. บำรุงผลเล็ก - ผลกลาง
                       
ทางใบ :               
- ในรอบ 7 วันให้น้ำ 100 ล. + 21-7-14 (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + ไคโตซาน 100 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ทุก 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ               
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 
ทางราก :               
- นำปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยอินทรีย์  กลับเข้าคลุมโคนต้นอย่างเดิม               
- ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน                
- ใส่น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.                 
- ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน               

หมายเหตุ :               
- เริ่มปฏิบัติหลังจากกลีบดอกร่วงหรือระยะ 1 สัปดาห์แรก               
- เนื่องจากอายุการเจริญเติบโตของผลแก้วมังกรมีระยะสั้นมาก  ตั้งแต่ผสมติดถึงเก็บเกี่ยวเพียง 1 เดือนหรือ 4 สัปดาห์เท่านั้น  การใส่ปุ๋ยทางรากสูตร 21-7-14  แบบแบ่งใส่ 2-3 ครั้งๆละ 1 กำมือ/สัปดาห์จะได้ผลกว่าการใส่ครั้งเดียว               
- ถ้าติดผลดกมากควรให้แม็กเนเซียม.  ฮอร์โมน เอ็นเอ.  ฮอร์โมนไข่. 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลขนาดกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากแบกภาระเลี้ยงผลจำนวนมากบนต้น
- ให้จิ๊บเบอเรลลิน 100 กรัม/น้ำ 100 ล. ฉีดพ่น 1 รอบ สามารถแก้อาการผลแตกได้ระดับหนึ่ง  แต่หากได้ใช้สลับครั้งกับแคลเซียม โบรอน.จะแก้อาการผลแตกได้แน่นอนยิ่งขึ้น                
- ให้ทางใบด้วย ธาตุรอง/ธาตุเสริม  1-2  รอบ โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลกลางจะช่วยบำรุงขยายขนาดผลให้ใหญ่และเนื้อแน่นขึ้นแต่ เมล็ดมีขนาดเท่าเดิม                       

9. บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว               
ทางใบ :               
- ให้น้ำ 100 ล. + 0-21-74  หรือ  0-0-50 สูตรใดสูตรหนึ่ง (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี  หรือ  น้ำ 100 ล. + มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี. + ธาตุรอง/ธาตุเสริม100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  1-2 รอบ  ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว  ฉีดพ่นพอเปียกใบ               
-  ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                   
ทางราก  :               
- เปิดหน้าดินโคนต้น               
- ให้ 13-13-21 หรือ  8-24-24  สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- งดน้ำ               

หมายเหตุ :               
- เริ่มปฏิบัติก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน               
- ระยะเวลาในการบำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวเพียง 1 สัปดาห์  ให้ 2 รอบห่างกันรอบละ 3-5 วัน  จะช่วยให้สีจัดรสดี  เนื้อแห้งกรอบ               
- ผลแก่แล้วสามารถยืดอายุการเก็บเกี่ยวได้ 7-10 วัน  โดยที่ผลแก่จัดมีสีแดงเต็มผลแล้วถ้ายังไม่เก็บเกี่ยว ผลจะเป็นสีชมพูอมแดง (ไม่แดงจัดเหมือนครั้งแรก) แต่คุณภาพภายในผลยังดีเหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม
- การบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวโดยให้ทางรากด้วย 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่รุ่นแรกไปแล้วจะช่วยบำรุงผลชุดหลังต่อ นอกจากนี้ยังทำให้ต้นไม่โทรมเหมาะสำหรับการเตรียมความพร้อมต้นต่อการปฏิบัติบำรุงรุ่นปีต่อไปอีกด้วย 

การบังคับแก้วมังกรให้ออกก่อนฤดูกาล


-  เดือน  ก.ค.- ส.ค.     ตัดแต่งกิ่ง  เรียกใบอ่อน
-  เดือน  ก.ย.- ต.ค.     สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
-  เดือน  พ.ย.- ธ.ค.     สะสมอาหารเพื่อการออกดอกพร้อมกับให้แสง ไฟขนาด 100 วัตต์ 1 
                        หลอด/4 ต้น ช่วง เวลา 18.00-21.00 น.และ 05.00-06.00 น.
                        ทุกวัน  ตลอด  1 เดือน
-  เดือน ม.ค.             เปิดตาดอก
-  เดือน ก.พ.             บำรุงผล                        

หมายเหตุ  :                       
- การให้แสงไฟวันละ 2-4 ชม.หลังพระอาทิตย์สิ้นแสง ช่วงอากาศหนาว (พ.ย.-ธ.ค.) ต้องใช้ระยะเวลานาน 20-25 วันขึ้นไป  แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งใช้ระยะเวลาให้ประมาณ 15-20 วัน  ซึ่งดอกที่ออกมาจะดกกว่าช่วงอากาศปกติที่ไม่มีการให้แสงไฟ....ในฤดูกาลปกติถ้ามีการให้แสงไฟก็จะช่วยให้ออกดอกดีและดกกว่าการไม่ให้แสงไฟ                       
- การบังคับให้ออกนอกฤดูจะสำเร็จได้ ต้นต้องได้รับการบำรุงอย่างดี มีการจัดการปัจจัยพื้นฐานด้านการเกษตร (ดิน-น้ำ-แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล-สารอาหาร-สายพันธุ์-โรค) อย่างถูกต้องสม่ำเสมอจนต้นสมบูรณ์เต็มที่ และไม่ควรปล่อยให้ออกดอกติดผลในฤดูกาลมาก่อน    

view