สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กระท้อน

กระท้อน
กระท้อน

               ลักษณะทางธรรมชาติ
    * เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี  หากปล่อยให้โตอย่างอิสระอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและได้รับการปฏิบัติบำรุงดีสามารถสูงได้ถึงกว่า 20 ม. ขนาดทรงพุ่มกว้าง 10-20 ม.เมื่ออายุต้นมากขึ้นหรือเป็นต้นแก่แล้วการให้ผลผลิตจะลดลงทั้งความดกและคุณภาพ แก้ไขโดยตัดแต่งกิ่งทำสาวให้เหลือขนาดทรงพุ่มสูงและกว้าง 3-4 ม. แล้วบำรุงสร้างกิ่งใหม่ก็จะกลับคืนสภาพเป็นต้นสาวที่ให้ผลดกและคุณภาพดีเหมือนเดิม             
    * เป็นผลไม้เขตร้อนสามารถปลูกได้ในพื้นที่ทุกภาค ทุกพื้นที่ และทุกฤดูกาล ชอบดินเหนียวปนทราย  ดินเหนียวร่วน หรือดินลูกรังแดงร่วน มีอินทรียวัตถุมากๆ สารอาหารสมบูรณ์  โปร่ง น้ำและอากาศผ่านสะดวก  เนื้อดินลึกไม่น้อยกว่า 1.5 ม.                   
    * ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.-ก.ค.เป็นกระท้อนปีหรือในฤดูกาล แม้ว่าจะไม่ใช่ผลไม้ยอดนิยมระดับแนวหน้า แต่มีเสน่ห์ตรงที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผลไม้ระดับแนวหน้าอย่างมะม่วง ทุเรียน เงาะ  มังคุด  วายหรือหมดไปจากตลาดแล้วและออกก่อนลำไย  จะมีคู่แข่งก็แต่ผลไม้ประเภทออกตลอดปีเท่านั้น           
    * ให้ผลผลิตปีละ 1 รุ่น  ปัจจุบันยังไม่มีฮอร์โมนหรือสารใดๆบังคับให้ออกนอกฤดูได้ และก็ไม่มีสายพันธุ์ทะวายอีกด้วย   การบังคับจึงทำได้เพียงบำรุงให้ออกก่อนฤดูหรือหลังฤดูด้วยช่วงสั้นๆเท่านั้น           
    * ต้นที่ปลูกจากกิ่งตอน  กิ่งทาบ  ติดตา  เสียบยอด  มีแต่รากฝอยจะเริ่มให้ผลผลิตได้เมื่ออายุ 3-4 ปีแต่ถ้าเป็นต้นที่ได้รับการเสริมราก 1-2 รากสามารถให้ผลได้ภายใน 2-3 ปี แล้วจะให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องนานถึง 30 ปี               
      เนื่องจากกระท้อนเป็นไม้ยืนต้นอายุนับ 100  ปี  ถ้าต้นนั้นปลูกจากกิ่งที่มีแต่รากฝอยเมื่อต้นใหญ่มากขึ้นทรงพุ่มต้านลมมากๆอาจทำให้ต้นล้มได้  แนวทางแก้ไข  คือ  เสริมราก 1-2 รากด้วยต้นที่มีรากแก้ว (เพาะเมล็ด) ซึ่งนอกจากจะช่วยยึดต้นได้ดีแล้วยังช่วยเพิ่มจำนวนรากในการหาอาหารอีกด้วย            

    * กระท้อนสายพันธุ์เดียวกัน ปลูกในแปลงเดียวกัน และบำรุงอย่างเดียวกัน แต่คุณภาพผลผลิตแตกต่างกันเนื่องมาจากสภาพโครงสร้างภายในประจำตัว กระท้อนต้นที่หลังใบมีขนปุยคล้ายกำมะหยี่มักให้ผลผลิตคุณภาพเหนือกว่าต้นที่หลังใบเรียบมันวาว                  
    * ต้นพันธุ์ระยะกล้าสังเกตได้ยากมากว่าต้นไหนเป็นพันธุ์ไหน เพราะระยะกล้ากระท้อนทุกสายพันธุ์จะมีลักษณะคล้ายกันมาก  การให้ได้สายพันธุ์แท้ตามต้องการต้องมาจากแหล่งเชื่อถือได้จริงๆเท่านั้น            
    * ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ  เกสรตัวเมียพร้อมรับการผสมทั้งจากเกสรตัวผู้ทั้งในดอกเดียวกัน และเกสรตัวผู้จากดอกอื่นในต้นเดียวกันหรือจากต่างต้น            
      อายุดอกตูม-ดอกบาน(ผสมติด) 25-30 วัน  และอายุผลเล็ก-ผลแก่เก็บเกี่ยว 5-6เดือน
    * ออกดอกจากซอกใบปลายกิ่งของกิ่งอายุข้ามปี ออกได้ทั้งกิ่งชายพุ่มและกิ่งในทรงพุ่มแบบทยอยออกนาน 7-10 วัน             
    * การติดผลมีทั้งผลเดี่ยวและเป็นพวงตั้งแต่ 2-5 ผล ขนาดผลขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการบำรุง
    * ปลูกกระท้อนสายพันธุ์ให้ผลดกถึงดกมาก  ระยะห่างระหว่างต้น  8 X 8 ม. (1 ไร่ = 11 ต้น)  เลี้ยงทรงพุ่มให้สูงอิสระ 5-6 ม. (ตัดยอดประธาน) ทรงพุ่มกว้างชนต้นข้างเคียง  เว้นช่องว่าระหว่างต้นพอให้แสงแดดส่องผ่านได้ ตัดแต่งกิ่งภายในโปร่งให้แสงแดดผ่านเข้าไปได้เท่ากันดีทั่วพื้นที่ภายในทรงพุ่ม 40-50 เปอร์เซ็นต์  ต้นได้รับการเสริมราก 2-3 ราก  และได้รับการปฏิบัติบำรุงอย่างถูกต้องสม่ำเสมอต่อเนื่องนานหลายปีติดต่อกัน  เมื่ออายุต้นโตเป็นสาวเต็มที่สามารถให้ผลผลิตมากถึง 2,000 ผล           
    * แต่ละช่วงของการพัฒนาทั้งต้นและผลต้องการน้ำค่อนข้ามากและสม่ำเสมอ  แต่ช่วง ปรับ ซี/เอ็น เรโช  ถึง ก่อนเปิดตาดอก  ต้องการน้ำน้อย ดังนั้น การเตรียมพื้นที่ปลูกจะต้องสามารถควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินโคนต้นให้ได้อย่างแท้จริง           
    * ธรรมชาติกระท้อนมักออกดอกแล้วติดผลเล็กครั้งละจำนวนมาก จากนั้นจะสลัดผลเล็กทิ้งเองจนเหลือไม่มาก แก้ไขโดยบำรุงต้นให้สมบูรณ์จริงๆด้วยวิธีให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องนานหลายๆปี  กับทั้งให้ฮอร์โมนบำรุงดอก. บำรุงผลเล็ก. อย่างถูกต้องตรงตามจังหวะ และเมื่อผลโตขึ้นการซอยผลออกบ้างเท่าที่จำเป็น
    * เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์    ซึ่งเกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมน หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกัน เมื่อพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว           
    * ขั้นตอนการปรับ ซี/เอ็น เรโช.โดยการงดน้ำนั้น แม้จะได้เตรียมความสมบูรณ์ของต้นไว้พร้อมก่อนแล้ว  ถ้ามาตรการควบคุมปริมาณน้ำ (งดน้ำ) จนทำให้ใบแก่โคนกิ่งสลดจนแห้งแล้วร่วงไม่ได้ก็จะทำให้เปิดตาดอกไม่ออก  หรือเปิดตาดอกแล้วออกมาเป็นใบอ่อนแทนได้
    * การห่อผลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากช่วยป้องกันแมลงวันทองแล้วยังช่วยทำให้ผิวสวย ผิวเป็นกำมะหยี่ดี  และเนื้อในดีอีกด้วย              
      - เริ่มห่อผลเมื่อผลอายุ 50-55 วัน หรือขนาดมะนาว หรือผลเริ่มเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลืองอ่อน และเก็บเกี่ยวได้หลังจากห่อผล 1 เดือน หรือเมื่ออายุผลได้ 5-6 เดือนหลังออกดอก
      - สังเกตลักษณะผลแก่ได้จากเส้นบนผิวผลจากขั้วผลถึงก้นผล  ถ้าเส้นยังนูนเด่นชัดแสดงว่ายังแก่ไม่จัด ถ้าเส้นหายไปหรือเรียบเนียนกับผิวผลแสดงว่าผลแก่จัดแล้ว หรือสังเกตที่สีเปลือกผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำหมาก
      - การห่อด้วยถุงพลาสติกจะทำให้ผลเสียหายเพราะระบายความชื้นไม่ดี ควรห่อด้วยกระดาษถุงปูนซีเมนต์เท่านั้น  วัสดุห่อผลดีที่สุด คือ ใบตองแห้ง เรียกว่า  กระโปรง  แต่เนื่องจากมีราคาแพงและจัดทำยากจึงไม่ได้รับความนิยม           
        การห่อผลด้วยกระโปรงใบตองชั้นในก่อนแล้วห่อทับซ้อนด้วยถุงกระดาษปูนซิเมนต์อีกชั้นหนึ่งจะทำให้คุณภาพผลดีกว่าการห่อแบบชั้นเดียว           
      - ห่อผลต้องทำด้วยความประณีต มือเบาๆ ถ้าทำแรงมือหนักจนขั้วได้รับความกระทบกระเทือน  ผลจะไม่ร่วงเดี๋ยวนั้นแต่จะร่วงหลังจากห่อผลแล้ว 7-10 วัน           
      - ควรเลือกใช้ถุงห่อขนาดใหญ่ๆ  เพื่อให้อากาศภายในถุงถ่ายเทสะดวก  โดยเฉพาะผลกระท้อนที่ติดเป็นพวงจะต้องใช้ถุงห่อขนาดใหญ่พิเศษ            
      - ผลที่ไม่ได้ห่อ คุณภาพผลนอกจากเนื้อจะแข็งกระด้าง  ปุยน้อยแล้ว  ผิวเปลือกก็ไม่เป็นกำมะหยี่อีกด้วย  ผลแบบนี้เหมาะสำหรับทำกระท้อนดอง             

    * เป็นผลไม้ที่ไม่ต้องบ่มหลังเก็บเกี่ยว คุณภาพของผลแก่จัด (ผลสุก) ขณะอยู่บนต้นเป็นเช่นไรเมื่อเก็บลงมาแล้วก็คงเป็นเช่นนั้น  ผลที่ครบอายุเก็บเกี่ยวแล้วหากปล่อยทิ้งคาต้นนานหลายวันเกินไปคุณภาพจะด้อยลง ดังนั้นจึงให้เก็บเกี่ยวกระท้อน ณ วันที่ครบอายุผลพอดีรับประทาน
    * กระท้อนก็เหมือนกับผลไม้อื่นอีกหลายชนิด  หลังจากเก็บลงมาจากต้นแล้วปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้ลืมต้น  สัก 2-3 วันจะทำให้มีรสชาติหวานขึ้น  เก็บในอุณหภูมิปกติอยู่ได้นาน 5-7วัน หรือเก็บในอุณหภูมิ 15-17 องศาอยู่ได้นาน 20 วัน           
    * ความดกและคุณภาพของผลด้านขนาด รูปทรง สีผิว ความนุ่มหนาของเนื้อและปุย ความเล็กของเมล็ด กลิ่นและความหวาน  ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ที่ได้รับจากการบำรุงมากกว่าคุณลักษณะของสายพันธุ์           
    * สายพันธุ์ผลใหญ่แม้จะได้รับการปฏิบัติบำรุงไม่เต็มที่ ผลที่ออกมากก็ยังใหญ่หรืออาจย่อมลงมาเล็กน้อยแต่จะไม่ดก  ส่วนสายพันธุ์ผลเล็กแม้จะได้รับการปฏิบัติบำรุงดีเพียงใด ผลที่ออกมาก็ยังเป็นผลขนาดเล็ก หรืออาจใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยแต่การติดผลจะดกขึ้น
    * ผลไม้ทั่วไปช่วงผลแก่จัดใกล้เก็บเกี่ยวต้องงดน้ำเพื่อให้เนื้อแห้งกรอบ กรณีของกระท้อนไม่ต้องงดน้ำแต่กลับต้องให้น้ำสม่ำเสมอ  เพื่อให้เนื้อฉ่ำนิ่มจนใช้ช้อนตักรับประทานได้  ถ้างดให้น้ำช่วงผลแก่จัดใกล้เก็บเกี่ยวเนื้อแข็งไม่เหมาะสำหรับรับประทานผลสด  แต่ดีสำหรับทำกระท้อนแปรรูป
    * ออกดอกติดผลจากกิ่งอายุข้ามปี การตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตควรตัดเฉพาะกิ่งที่มีผลผลิตแล้วบำรุงสร้างยอดขึ้นมาใหม่สำหรับใช้เป็นกิ่งให้ออกดอกติดผลในปีต่อไป  ส่วนกิ่งที่ปีนี้ยังไม่ออกดอกติดผลไม่ต้องตัดแต่ให้บำรุงต่อไปเลย  เมื่อได้รับการบำรุงต่อก็จะออกดอกติดผลได้ในฤดูกาลถัดไป           
    * เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่  น้ำหนักมาก  เมื่อลมพัดจะทำให้ผลแกว่งไปมาแล้วไปกระทบกับกิ่งข้างๆ  ทำให้ผลเสียหาย  แก้ไขด้วยการปลูกไม้บังลม           
    * ขนาดลำต้นใหญ่ความสูงมากๆ ทรงพุ่มกว้าง  ให้ทำค้างไม้แบบถาวรเป็นคอกสี่เหลี่ยมล้อมรอบต้น จัดให้มีไม้พาดเป็นทางเดินภายในทรงพุ่มสูง 1-2-3 ชั้นตามความเหมาะสมจะช่วยให้การเข้าปฏิบัติงานในทรงพุ่ม  เช่น  การตัดแต่งกิ่ง  ห่อผล  ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
    * หลังจากต้นเป็นสาวพร้อมให้ผลผลิตแล้วให้บำรุงแบบทำให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องทั้งปีและหลายๆปีติดต่อกัน โดยฝังซากสัตว์ (หอยเชอรี่ หัว/พุงปลา ซี่โครงไก่) ที่ชายพุ่ม 4-5 หลุม/ต้น (ทรงพุ่ม 5 ม.) ปีละครั้ง  และปีรุ่งขึ้นให้ฝังระหว่างหลุมของปีที่แล้ว
    * ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ในใจกลางทรงพุ่มและเหนือทรงพุ่ม เป็นการเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานฉีดพ่นทางใบได้ดีกว่าเครื่องมือฉีดพ่นทุกประเภท             
    * ค่อนข้างอ่อนแอต่อปุ๋ยน้ำชีวภาพที่มีกากน้ำตาลเป็นส่วนผสมทุกชนิด ทั้งๆที่ใช้ในอัตราเข้มข้นเท่ากับไม้ผลอื่นๆ  ดังนั้น ถ้าจะใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพฉีดพ่นทางใบจะต้องใช้ในอัตราน้อยกว่าไม้ผลอื่นๆ 1 เท่าตัวเสมอ
    * การปลูกกล้วยลงในแปลงปลูกก่อนเพื่อเตรียมให้เป็นไม้พี่เลี้ยง เมื่อกล้วยยืนต้นได้แล้วจึงลงต้นกล้ากระท้อนพร้อมกับทำบังร่มเงาช่วยอีกชั้นหนึ่งจะช่วยให้ต้นกล้ายืนต้นได้เร็ว สมบูรณ์แข็งแรง
    * การพูนโคนต้นด้วยอินทรียวัตถุปีละ 1-2 ครั้งจะช่วยให้ต้นแตกรากใหม่ดี และต้นที่ได้รับการเสริมราก 1-2รากนอกจากจะช่วยให้ต้นมีรากหาอาหารมากขึ้นแล้วยังช่วยให้ต้นอายุยืนนานขึ้นอีกด้วย
    * อายุต้น 3-4 ปีขึ้นไป หรือได้ความสูง 3-5 ม. แล้ว ให้ตัดยอดประธาน (ผ่ากบาล) เพื่อควบคุมขนาดความสูง  จากนั้นจึงตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมขนาดความกว้างทรงพุ่มต่อไป
    * การตัดแต่งกิ่งให้เหลือกิ่งกระจายรอบทรงพุ่มเสมอกันจนแสงแดดส่องทั่วภายในทรงพุ่มจะช่วยให้กิ่งภายในทรงพุ่มออกดอกติดผลแล้วพัฒนาผลจนมีคุณภาพดีได้           
    * ใบกระท้อนแก่ตากแห้งบดละเอียดใช้ผสมพริกป่นเพื่อลดความเผ็ดของพริกลง และเพิ่มสีพริกให้จัดขึ้นได้ ทำให้การปลูกกระท้อนเพื่อขายใบกลายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งที่น่าพิจารณา
                    
      สายพันธุ์           
      กระท้อนมีทั้งสายพันธุ์รสเปรี้ยวสำหรับทำกระท้อนดอง  แช่อิ่ม  กวน  หยี  และสายพันธุ์รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยวสำหรับรับประทานผลสด                    
      สายพันธุ์ทั่วไป :                   
      ผอบทอง.  เขียวหวาน.  ขันทอง.  ตาอยู่.  เทพรส.  เทพสำราญ. อีไหว.อีเปียก.  อีจืด. หลังห่อ.  บัวขาว.  ทับทิม.  ทองหยิบ.  อินทรชิต.  ทองใบใหญ่.  ไกรทอง. บางกร่าง.  นวลจันทร์.ขันทอง.  คุณพินัย.  สุภรัตน์.
      สายพันธุ์นิยม :                    
      ปุยฝ้าย (พันธุ์หนัก). อีล่า (พันธุ์หนัก). นิ่มนวล (พันธุ์เบา). ทับทิม (พันธุ์เบา).
      สายพันธุ์เด่น :                    
      ทับทิม (500-800 กรัม)  เป็นพันธุ์เบา ติดผลดก ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ก่อนพันธุ์อื่นๆ รสหวานจัด
      อีล่า (1-1.2 กก) เป็นพันธุ์หนัก ติดผลดกถึงดกมาก ผลผลิตเก็บเกี่ยวหลังสุด(ประมาณ ส.ค.-ก.ย.)ในบรรดากระท้อนด้วยกันและราคาดีที่สุด
      ทองหยิบ (1-1.5 กก.) ติดผลดกปานกลาง รสหวานจัด
      ไหว (1.1.7 กก.) ติดผลดกปานกลาง รสหวานจัด
      นิ่มนวล (500-800 กรัม) ติดผลดกปานกลาง รสหวานจัด เนื้อนิ่มดีมาก
      กำมะหยี่ (500-800 กรัม) ติดผลดกกว่านิ่มนวล  รสหวานจัด  เนื้อนิ่มดีมาก
             
     การขยายพันธุ์             
     วิธีขยายพันธุ์ :
                
     ตอน.  ตุ้มเล็ก.  ตุ้มใหญ่.  ทาบกิ่ง.  ติดตา.  เสียบยอด. เสียบข้าง.  เพาะเมล็ด (กลายพันธุ์).เพาะเมล็ดเสริมรากเปลี่ยนยอด (ไม่กลายพันธุ์/ดีที่สุด)             
     เลือกกิ่งพันธุ์ :              
     เลือกต้นกล้าพันธุ์ที่ขยายพันธุ์มาจากกิ่งกระโดง ลำต้นกลางอ่อนกลางแก่ เปล้าสูงตรง ผ่านการอนุบาลในถุงดำมานานจนแผลทาบติดสนิทดี  เคยแตกใบอ่อนในถุงดำมาแล้ว 1-2 ชุด  มีรากแก่สีน้ำตาลดำแทงทะลุออกมานอกถุง รอบๆรากแก่มีรากอ่อนหรือรากฝอยสีเหลืองน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก

     ระยะปลูก               
   - ระยะปกติ     4 X 6 ม. หรือ  6 X 8 ม.           
   - ระยะชิดพิเศษ  2 X 3 ม. หรือ  2 X 4 ม.                   

     เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
              
   - ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา...แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
   - ให้ยิบซั่มธรรมชาติ  ปีละ 2 ครั้ง           
   - ให้กระดูกป่น  ปีละ 1 ครั้ง                    
   - คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม  ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
   - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
                        
     หมายเหตุ :                 
   - การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่  ปลาสด  เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี  เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องหลายๆปี  จะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูง  ตอบสนองต่อการบำรุงทุกขั้นตอนดีมาก
   - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน  ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่  การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
   - ให้กลูโคสหรือนมสัตว์สดเฉพาะช่วงสำคัญ เช่น เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่  สะสมอาหาร  บำรุงผลกลาง ช่วงละ 1-2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 20-30 วัน........ถ้าให้บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นเกิดอาการนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อสารอาหารหรือฮอร์โมนใดๆทั้งสิ้น           
   - ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง           

     เตรียมต้น             
     ตัดแต่งกิ่ง :
         
   - กระท้อนออกดอกที่ซอกใบปลายกิ่งอายุข้ามปี  ดังนั้นในการตัดแต่งกิ่งประจำปีหรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตัดเฉพาะกิ่งที่ออกดอกติดผลเพื่อสร้างใบใหม่สำหรับให้ออกดอกติดผลในปีต่อไป  ส่วนกิ่งที่ไม่ออกดอกติดผลในปีนี้ให้คงไว้แล้วบำรุงต่อไปสำหรับเอาดอกผลในรุ่นปีนี้
   - ตัดกิ่งที่บังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก ทำให้ทรงพุ่มโปร่งจนแสงแดดส่องผ่านเข้าไปได้ถึงทุกกิ่งทั่วภายในทรงพุ่ม กิ่งที่ได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งที่ไม่ได้รับแสงแดดหรือได้รับแสงแดดน้อย
   - โดยธรรมชาติแล้วจะออกดอกจากกิ่งแขนงของกิ่งประธานที่เฉียง 45 องศากับลำต้นได้ดีกว่ากิ่งแขนงของกิ่งประธานที่ระนาบหรือกิ่งชี้ลง              
    - ตัดกิ่งกระโดง  กิ่งในทรงพุ่ม  กิ่งคดงอ  กิ่งชี้ลง  กิ่งไขว้  กิ่งหางหนู  กิ่งเป็นโรค กิ่งชี้เข้าใน และกิ่งที่ออกดอกติดผลแล้วเพื่อเรียกยอดใหม่สำหรับออดอกติดผลในรุ่นปีต่อไป  การตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
    - ตัดแต่งกิ่งตามปกติควรตัดให้เหลือใบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อใบอ่อนชุดใหม่ออกมาแล้วให้มีใบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะช่วยให้การผลิดอกติดผลดี            
    - ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ  นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้ว  แสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย           
    - ลักษณะทรงพุ่มที่ดี ลำต้นควรมีลำเปล้าเดี่ยวๆหรือกิ่งง่ามแรกสูงจากพื้น 1-1.20 ม. ความสูง 3-5 ม.กว้าง 3-4 ม. มีกิ่งประธาน 3-5 กิ่งแผ่กระจายออกรอบทิศ          
    - นิสัยกระท้อนมักออกดอกหลังจากกระทบหนาวได้ระยะหนึ่ง  ดังนั้นจึงควรตัด  แต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อน ช่วงต้นฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น นั่นคือ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วยังไม่ต้องตัดแต่งกิ่งแต่ให้บำรุงตามปกติต่อไปก่อน  จนกระทั่งเข้าสู่หน้าฝนจึงลงมือตัดแต่งกิ่ง                        
      ตัดแต่งราก :           
    - ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นให้ใช้วิธีล่อรากโดยพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรียวัตถุ 1 ส่วน           
    - ต้นอายุหลายปี  ระบบรากเก่าและแก่มาก  ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 โดยพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. แล้วให้ฮอร์โมนบำรุงราก 1-2 รอบ ห่างกันรอละ 15-20 วัน ต้นก็จะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม         
    - ต้นกล้าชำในถุงดำเป็นเวลานานๆ จนรากเจริญยาวหมุนวนเต็มถุง เมื่อถอดต้นกล้าออกจากถุงจะนำลงปลูกในแปลงจริงต้องจัดรากที่หมุนวนบริเวณก้นถึงให้เหยียดตรงเสียก่อน ถ้าปลูกทั้งๆที่รากยังหมุนวนอยู่ในถุง  รากก็จะหมุนวนในหลุมปลูกต่อ  ไม่เจริญยาวออกด้านนอก  ทำให้โตช้าหรือนั่งหลุม

ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงกระท้อน     

   1.เรียกใบอ่อน   
           
     ทางใบ :                                
   - ให้น้ำ 100 ล.+ 46-0-0(400 กรัม)หรือ 25-5-5(400 กรัม)สูตรใดสูตรหนึ่ง + จิ๊บเบอเรลลิน 10 กรัม ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.   ฉีดพ่นพอเปียกใบ   ทุก 5-7 วัน  ต่อการเรียกใบอ่อน 1 รุ่น                
   - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 
     ทางราก :               
   - ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7(1-2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
   - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                
     หมายเหตุ :                
   - เริ่มลงมือปฏิบัติทันทีหลังจากตัดแต่งกิ่ง                
   - หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 5-7 วันถ้าต้นใดแตกใบอ่อนดีน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม เพราะถ้าต้นแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นจะส่งผลเสียหลายอย่างตั้งแต่การเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่  การสะสมอาหารเพื่อการออก  การปรับ ซี/เอ็น เรโช.  การเปิดตาดอก  ซึ่งจะออกดอกไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นและเมื่อดอกออกไม่พร้อมกันก็กลายเป็นผลไม่พร้อมกันทำให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนอย่างมาก....แนวทางแก้ไข คือ ต้องบำรุงเรียกใบอ่อนให้ออกมาเป็นชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้นให้ได้
   - ถ้ามีการตัดแต่งรากด้วยแล้วให้ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีส่วนผสมของรำละเอียดด้วย จะช่วยให้แตกรากใหม่เร็วและดี               
   - ก่อนตัดแต่งกิ่งให้บำรุงจนต้นเริ่มผลิตาใบออกมาก่อนแล้วจึงลงมือตัดแต่งกิ่ง จากนั้นจึงเรียกใบอ่อนจะช่วยให้ต้นแตกใบอ่อนชุดใหม่  ดีกว่าตัดแต่งกิ่งก่อนแล้วจึงลงมือบำรุงเรียกใบอ่อนทีหลัง
   - รักษาใบอ่อนที่แตกใหม่ละชุดให้รอดพ้นจากโรคและแมลงให้ได้  ถ้าใบอ่อนชุดหนึ่งชุดใดถูกทำลายไปจะต้องเริ่มเรียกใบชุดที่หนึ่งใหม่ทำให้เสียเวลา               
   - กระท้อนต้องการใบอ่อน 3 ชุด โดยมีวิธีทำดังนี้                
     วิธีที่ 1....ถ้าต้นสมบูรณ์ดี มีการเตรียมดินและปรับปรุงบำรุงดินสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายๆปีหลังจากใบอ่อนชุดแรกเพสลาดให้เรียกใบอ่อนชุด 2 ต่อ  ใบอ่อนชุด 2 นี้อาจจะออกไม่พร้อมกันทั้งต้นเหมือนชุดแรกแต่ไม่ควรห่างกันเกิน 7-10 วัน  และหลังจากใบอ่อนชุด 2 เพสลาดก็ให้เรียกใบอ่อนชุด 3 ต่อได้เลยอีกเช่นกัน  การที่ใบอ่อนชุด 2 ออกไม่พร้อมกันนั้นจะส่งผลให้ใบอ่อนชุด 3ออกไม่พร้อมกันทั้งต้นอีกด้วย  และเมื่อใบอ่อนชุด  3 เพสลาดก็ให้เข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามปกติ               
     วิธีที่ 2....หลังจากใบอ่อนชุดแรกแผ่กางแล้วเร่งให้เป็นใบแก่  ได้ใบแก่แล้วงดน้ำให้ใบสลดจนใบแก่โคนกิ่งเริ่มร่วง 1-2 ใบให้ลงมือเรียกใบอ่อนชุด  2  เมื่อใบอ่อนชุด 2 แผ่กางให้เร่งเป็นใบแก่  เมื่อใบอ่อนชุด  2 เป็นใบแก่แล้วงดน้ำให้ใบสลดจนใบแก่โคนกิ่งร่วง 1-2 ใบก็ให้ลงมือเรียกใบอ่อนชุด  3 และเมื่อใบอ่อนชุด  3 เพสลาดก็ให้เข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามปกติ
       (วิธีที่ 1 ได้ผลดีกว่าวิธีที่ 2 เพราะต้นจะมีอาการโทรมน้อยกว่า)        


     2.เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่               
       ทางใบ :               
     - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-21-74 (400 กรัม) หรือ 0-39-39 (400 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                    
       ทางราก :           
       ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                
       หมายเหตุ :               
     - เริ่มลงมือปฏิบัติเมื่อใบอ่อนเริ่มแผ่กางรับแสงแดดได้                   
     - วัตถุประสงค์เพื่อเร่งใบชุดใหม่ให้สามารถสังเคราะห์อาหารได้ และเร่งระยะเวลาเรียกใบอ่อนชุดต่อไปได้เร็วขึ้น กับทั้งเพื่อให้ใบอ่อนรอดพ้นจากทำลายของแมลงประเภทปากกัดปากดูด
     - ถ้าต้องการให้ใบแก่เร็วขึ้นอีกก็ให้ฉีดพ่นตั้งแต่ใบเริ่มแผ่กางเพียงเล็กน้อย หรือฉีดพ่นก่อนที่ใบแผ่กาง (เพสลาด) นั่นเอง               
     - สารอาหารในกลุ่มเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่มีฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม.สูง นอกจากช่วยทำให้ใบเป็นใบแก่แล้วยังเสริมประสิทธิภาพขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกได้อีกด้วย
     - ถ้าปล่อยให้ใบอ่อนออกมาแล้วเป็นแก่เองตามธรรมชาติต้องใช้เวลา 30-45 วัน
         
    3.สะสมอาหารเพื่อการออกดอก   
               
      ทางใบ :               
    - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56(400 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.ทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 1-2 เดือน โดยฉีดพ่นพอเปียกใบ ติดต่อ
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
      ทางราก :               
    - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 หรือ 9-26-26  สูตรใดสูตรหนึ่ง (1-2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน                
    - ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน                
      หมายเหตุ :               
    - เริ่มปฏิบัติหลังจากใบอ่อนชุดสุดท้ายเพสลาด               
    - ปริมาณ 8-24-24  หรือ 9-26-26 ใส่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผลในรุ่นปีผลิตที่ผ่านมา  กล่าวคือ  ถ้ารุ่นปีผลิตที่ผ่านมาติดผลดกมาก ผลผลิตมีคุณภาพดีมาก  ให้ใส่ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ถ้ารุ่นปีผลิตที่ผ่านมาติดผลดกน้อยหรือไม่ติดผลเลย ให้ใส่ในปริมาณปานกลาง
    - การเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้น  หมายถึง  การให้อัตราเดิมแต่ระยะเวลาให้ถี่ขึ้น  เช่น  จากเคยให้ 15 วัน/ครั้งก็ให้เปลี่ยนเป็น 10 วัน/ครั้ง                  
    - แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2-3 เดือน ในห้วง 2-3 เดือนนี้ให้กลูโคสผงหรือนมสัตว์สด 2 รอบ โดยรอบแรกให้เมื่อเริ่มลงมือบำรุงและให้รอบ 2 ห่างจากรอบแรก 20-30 วัน                
    - การสะสมอาหารเพื่อการออกดอกมีความสำคัญมาก ช่วงนี้จำเป็นต้องให้สารอาหารกลุ่ม  “สร้างดอก-บำรุงผล”  ทั้งทางใบและทางรากให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้                
    - ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนปรับ ซี/เอ็น เรโช. ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่  ถ้าใบอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. ต่อไปได้เลย แต่ถ้าใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้ใบอ่อนชุดหลังได้สะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับใบอ่อนชุดแรกเสียก่อน จากนั้นจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง
        
    4.ตรวจสอบสภาพอากาศ           
      ก่อนเริ่มลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช.(งดน้ำ)และก่อนลงมือเปิดตาดอกต้องแน่ใจว่าระหว่างที่กำลังบำรุงทั้งสองขั้นตอนนี้จะต้องไม่มีฝน เพราะถ้ามีฝนตกลงมาการงดน้ำก็ล้มเหลว และดอกที่ออกมาจะได้รับความเสียหาย......ถ้ารู้แน่ว่าช่วงงดน้ำและเปิดตาดอกถึงช่วงดอกออกมาแล้วจะมีฝนก็ให้ระงับการปรับ ซี/เอ็น เรโช. และเปิดตาดอกไว้ก่อน ให้บำรุงต้นต่อไปอีกด้วยสูตรสะสมอาหารเพื่อการออกดอก จากนั้นอาจจะปรับแผนการบำรุงเพื่อทำให้กระท้อนออกล่าฤดูด้วยการเลื่อนเวลาเริ่มปรับ ซี/เอ็น เรโช. และเปิดตาดอกให้ช้าออกไปเท่าที่สภาพภูมิอากาศจะอำนวยก็ได้           

     5.ปรับ ซี/เอ็น เรโช    
               
       ทางใบ :                             
     - ให้ น้ำ 100 ล.+ 0-42-56 (400 กรัม)+ ธาตุรอ/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ  ห่างกันรอบละ 5-7 วัน  ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ระวังอย่าให้โชกจนตกลงถึงพื้น                 
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน            
       ทางราก :               
     - เปิดหน้าดินโคนต้นโดยนำอินทรียวัตถุคลุมโคนต้นออกให้แดดส่องได้ทั่วพื้นดินทรงพุ่ม
     - งดให้น้ำเด็ดขาด   กรณีสวนยกร่องน้ำหล่อจะต้องสูบน้ำออกให้หมด
       หมายเหตุ :                
     - วัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่ม”  ปริมาณ ซี. (อาหารกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล) และ “ลด” ปริมาณ เอ็น.(อาหารกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้น)ซึ่งจะส่งผลให้ต้นออกดอกแน่นอนหลังการเปิดตาดอก
     - เริ่มปฏิบัติหลังจากแน่ใจว่าต้นได้สะสมอาหารหรือมีลักษณะอั้นตาดอกเต็มที่แล้ว  โดยสังเกตได้จากใบแก่โคนกิ่ง 2-3 ใบ  ซึ่งเป็นใบอายุข้ามปีเหลืองร่วงพร้อมกันทั้งต้น       
    
- ก่อนลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. ต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศให้มั่นใจว่าระหว่างปรับ ซี/เอ็น เรโช จะไม่มีฝนตก  เพราะถ้ามีฝนตกลงมามาตรการงดน้ำก็ต้องล้มเหลว           
     - ขั้นตอนการปรับ ซี/เอ็น  เรโช. ได้ผลสมบูรณ์หรือไม่ให้สังเกตจากต้น ถ้าต้นเกิดอาการใบสลดแสดงว่าในต้นมีปริมาณ ซี.มาก ส่วนปริมาณ เอ็น.เริ่มลดลง ความพร้อมของต้น อั้นตาดอก)ก่อนเปิดตาดอก  สังเกตได้จากลักษณะใบใหญ่หนาเขียวเข้ม  ใบคู่สุดท้ายปลายกิ่งแก่จัด  กิ่งและใบกรอบเปราะ  ข้อใบสั้น  หูใบอวบอ้วน ตาดอกโชว์นูนเห็นชัด               
     - เมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สดเพิ่มอีก  แต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์ทางใบอีกซ้ำอีก 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 20-30 วัน
     - การให้สารอาหารทางใบซึ่งมีน้ำเป็นส่วนผสมนั้น  อย่าให้โชกจนตกลงถึงพื้นเพราะจะกลายเป็นการให้น้ำทางราก  แนวทางปฏิบัติ คือ ให้บางๆเพียงเปียกใบเท่านั้น
     - เมื่องดน้ำหรือไม่รดน้ำแล้วจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินโคนต้นไม่ให้มากเกินไป  โดยทำร่องระบายน้ำใต้ดินหรือร่องสะเด็ดน้ำด้วย                       
     - กรณีสวนยกร่องน้ำหล่อต้องใช้ระยะเวลาในการงดน้ำนานมากกว่าสวนพื้นราบยกร่องแห้งจึงจะทำให้ใบสลดได้  อาจส่งผลให้แผนการผลิตที่กำหนดไว้คลาดเคลื่อน  ดังนี้จึงจำเป็นต้องสูบน้ำออกตั้งแต่ก่อนปรับ ซี/เอ็น เรโชโดยกะคะเนให้ดินโคนต้นแห้งถึงขนาดแตกระแหง และมีความชื้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ตรงกับช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโชพอดี                
     - มาตรการเสริมด้วยการ “รมควัน”  ทรงพุ่มช่วงหลังค่ำ ครั้งละ 10-15 นาที  3-5 รอบห่างกันรอบละ 2-3 วัน  จะช่วยให้การปรับ ซี/เอ็น เรโช  สำเร็จเร็วขึ้น         

    6.เปิดตาดอก   
           
      ทางใบ :               
      สูตร 1
.....น้ำ 100 ล.+ ไธโอยูเรีย (500- 1,000 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.               
      สูตร 2.....น้ำ 100 ล. + 0-52-34 (500 กรัม) + สาหร่ายทะเล  50 กรัม + ฮอร์โมนไข่ 50ซีซี. + เอ็นเอเอ. 25 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
      สูตร 3....น้ำ 100 ล.+ 13-0-46 (500 กรัม) + สาหร่ายทะเล 50 กรัม +ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี.+ เอ็นเอเอ.25 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
      สูตร 4 ...น้ำ 100 ล.+ 13-0-46 (1 กก.)+ 0-52-34(500 กรัม)+ สาหร่ายทะเล 50 กรัม + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
      สูตร 5....น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ.25 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.               
      ทางราก  :               
    - ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้นเหมือนช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช               
    - ให้ 8-24-24 หรือ 9-26-26 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
    - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน            
      หมายเหตุ :               
    - เริ่มปฏิบัติเมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกดีทั่วต้นและสภาพอากาศพร้อม
    - ระหว่างสูตร 1-2-3-4 ให้เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่งเพียงสูตรเดียว สลับกับสูตร 5 โดยให้ห่างกันครั้งละ 5-7 วัน ไม่ควรใช้สูตรใดสูตรหนึ่งเพียงสูตรเดียวติดต่อกัน  เพราะจะทำให้เกิดอาการดื้อจนเปิดตาดอกไม่ออก
    - ต้นที่ผ่านการบำรุงไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์   หรือสภาพอากาศไม่ค่อยอำนวย   หรือพันธุ์หนักออกดอกยาก  แนะนำให้เปิดตาดอกด้วยสูตร 4 สลับกับสูตร 5                
    - เปิดตาดอกแล้ว ถ้าดอกออกมาไม่มากพอ  ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้น ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก1-2 รอบด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ
    - เปิดตาดอกแล้วมีทั้งใบอ่อนและดอกออกมาพร้อมกัน ให้เปิดตาดอกด้วยสูตรเดิมซ้ำอีก  1-2 รอบ  นอกจากช่วยกดใบอ่อนที่ออกมาพร้อมกับดอกแล้วยังดึงช่อดอกที่ยังไม่ออกให้ออกมาได้อีกด้วย
        
    7.บำรุงดอก   
           
      ทางใบ :               
    - ให้น้ำ 100 ล. + 15-45-15 (400 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + เอ็นเอเอ. 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ฉีดพ่นพอเปียก  ระวังอย่าให้โชกจนลงถึงพื้น
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                 
      ทางราก :                
    - ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น               
    - ให้ 8-24-24 หรือ 9-26-26 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
    - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                
      หมายเหตุ :               
    - ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็นหรือระยะดอกตูม  บำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. 1 รอบ จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม แต่ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล            
    - ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.  1 รอบ  จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี
    - ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงไปจนถึงช่วงดอกบาน
    - ช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบโดยเฉาะช่วงกลางวัน (08.00-12.00 น.) เพราะอาจทำให้เกสรเปียกจนผสมไม่ติดได้  หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้ฉีดพ่นช่วงหลังค่ำ               
    - ระยะดอกบานถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด แก้ไขโดยกะระยะเวลาเปิดตาดอกให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดิน ทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก...มาตรการบำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่เสมอตั้งแต่ก่อนเปิดตาดอกจะช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก
    - เพื่อความมั่นใจในเปอร์เซ็นต์หรือประสิทธิภาพของฮอร์โมน เอ็นเอเอ. แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนเอ็นเอเอ.วิทยาศาสตร์แทนฮอร์โมนทำเอง  จะได้ผลดีกว่าเพราะเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นแน่นอนกว่า               
    - ควรฉีดพ่นเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสม  เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก  ควรฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียก หรือฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้
    - บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น  “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน”  โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ให้เดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้
    - การไม่ใช้สารเคมีใดๆเลยติดต่อกันมานานจะทำให้ให้มีผึ้งและมีแมลงธรรมชาติอื่นๆเข้ามาช่วยผสมเกสร  ซึ่งจะส่งผลให้การติดผลดีขึ้น               
    - ธรรมชาติกระท้อนช่วงออกดอกต้องการน้ำมากกว่าไม้ผลอื่นๆ ดังนั้นการบำรุงตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอกจนกระทั่งมีดอกออกมาควรเพิ่มปริมาณน้ำให้มากจะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ดีขึ้น  ช่วงนี้ถ้าขาดน้ำหรือได้น้ำไม่พอเพียงดอกจะแห้งและร่วง            

    8.บำรุงผลเล็ก
           
      ทางใบ :                
    - ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15(400 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.  ฉีดพ่นพอเปียกใบ ทุก 7-10 วัน
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
      ทางราก :               
    - นำอินทรีย์วัตถุกลับเข้าคลุมโคนต้นให้เหมือนเดิม                 
    - ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน           
    - ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7(1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
    - ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน            
      หมายเหตุ :                   
    - เริ่มปฏิบัติหลังจากกลีบดอกร่วง  หรือขนาดผลเท่าเมล็ดถั่วเขียว      
    - เทคนิคการให้ปุ๋ยทางใบด้วยสูตร 15-45-15 ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับบำรุงดอกนั้นวัตถุประสงค์เพื่อให้ P.สร้างเมล็ดก่อนในช่วงแรก ซึ่งเมล็ดนี้จะเป็นผู้สร้างเนื้อต่อไปเมื่อผลโตขึ้น        

    9.บำรุงผลกลาง    
           
      ทางใบ :               
    - ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14(400 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วัน  ฉีดพ่นพอเปียกใบ
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
      ทางราก :                
    - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14 (1/2-1 กก)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./ครั้ง/เดือน
    - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                
      หมายเหตุ :           
    - เริ่มลงมือบำรุงเมื่อเมล็ดเริ่มเข้าไคล  การที่จะรู้ว่าผลเริ่มเข้าไคลแล้วหรือยังต้องใช้วิธีสุ่มเก็บผลลงมาผ่าดูเมล็ดภายในเท่านั้น              
    - การบำรุงระยะผลขนาดกลางต้องให้น้ำมากสม่ำเสมอแต่ต้องไม่ขังค้าง  ถ้าได้รับน้ำน้อยจะทำให้เนื้อแข็งประด้าง  ผลไม่โต  ปุยน้อย  หากมีฝนตกหนักลงมากระทันหันก็อาจทำให้ผลแตกผลร่วงได้
    - ถ้าติดผลดกมากควรให้ฮอร์โมนน้ำดำ กับ แคลเซียม โบรอน. 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลขนาดกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากแบกภาระเลี้ยงผลจำนวนมากบนต้น       

  10.บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว   
           
     ทางใบ :               
   - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-21-74(400 กรัม)หรือ 0-0-50(400 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.หรือ น้ำ 100 ล.+ มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน และให้รอบสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว 5-7 วันด้วยการฉีดพ่นพอเปียกใบ                 
   - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                
     ทางราก :               
   - เปิดหรือไม่เปิดหน้าดินโคนต้น และนำอินทรีย์วัตถุออกหรือไม่ต้องนำออกก็ได้
   - ให้ 13-13-21 หรือ 8-24-24 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1-2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
     หมายเหตุ :               
   - ปฏิบัติก่อนเก็บเกี่ยว 10-20 วัน                
   - ช่วงผลแก่จัดใกล้หรือก่อนเก็บเกี่ยวไม่ต้องงดน้ำแต่ต้องให้น้ำสม่ำเสมอเพื่อให้เนื้ออ่อนนุ่มฉ่ำน้ำจนใช้ช้อนตักเนื้อรับประทานได้นั้น  หากมีฝนตกลงมาอาจทำให้มีน้ำมากเกินไป  ดังนั้น  จะต้องควบคุมปริมาณน้ำที่มาจากฝนให้อยู่ในระดับที่พอดี  ไม่มากหรือน้อยเกินไปให้ได้........ช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวนี้หากงดน้ำเหมือนผลไม้อื่นๆ  เนื้อจะแข็งไม่สามารถใช้ช้อนตักรับประทานได้
   - ถ้ามีฝนตก หลังจากหมดฝนแล้วให้บำรุงด้วยสูตรเดิมและวิธีเดิมต่อไปอีก 10-20 วัน  จากนั้นให้สุ่มเก็บลงมาผ่าพิสูจน์ภายในก็จะรู้ว่าสมควรลงมือเก็บเกี่ยวได้แล้วหรือต้องบำรุงต่อไปอีกจึงเก็บเกี่ยว ช่วงผลแก่จัดใกล้เก็บเกี่ยวมีฝนตกชุก แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สด 1 รอบเพื่อป้องกันต้นสะสมไนโตรเจน (จากน้ำฝน) มากเกินไปซึ่งจะทำให้ผลมีรสเปรี้ยว
   - การบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวโดยให้ทางรากด้วย 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่รุ่นแรกไปแล้วจะช่วยบำรุงผลชุดหลังต่อ นอกจากนี้ยังทำให้ต้นไม่โทรมเหมาะสำหรับการเตรียมความพร้อมของต้นต่อการปฏิบัติบำรุงรุ่นปีผลิตต่อไปอีกด้วย          
   - กระท้อนไม่ต้องการพักต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต  เมื่อผลสุดท้ายหลุดจากต้นต้องเร่งบำรุงเรียกใบอ่อนเพื่อฟื้นฟูสภาพต้นทันที จะช่วยให้การออกดอกติดผลในรุ่นการผลิตปีต่อไปดีขึ้น

เทคนิคทำกระท้อน “ก่อน - หลัง” ฤดูกาล          

     ปัจจุบันยังไม่มีสารหรือฮอร์โมนใดๆ บังคับกระท้อนให้ออกนอกฤดูได้ และไม่มีกระท้อนทะวาย (ให้ผลปีละ 2รุ่น) ดังนั้นการที่จะบังคับกระท้อนให้ออกนอกฤดูกาลปกติ (ก่อน/หลัง) ได้  จึงจำเป็นต้องใช้วิธีบังคับโดยการบำรุงอย่างเต็มที่เท่านั้น
                 
     บังคับกระท้อนให้ออกก่อนฤดู :  
           
     เลือกกระท้อนสายพันธุ์เบา (ทับทิม) ที่มีผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวได้ช่วงต้นเดือน พ.ค. มาทำกระท้อนให้ออกก่อนฤดู  โดยบำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวรุ่นปีการผลิตปีนี้ทางรากด้วย 8-24-24 กับบำรุงทางใบด้วย 0-21-74 และเมื่อถึงปลายเดือน พ.ค.ให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตบนต้นให้หมดแบบ ล้างต้น แล้วลงมือบำรุงตามขั้นตอน ดังนี้          

     ช่วงเดือน  พ.ค.- ก.ค. 
(เตรียมต้น)
     หลังจากเก็บเกี่ยวผลสุดท้ายจากต้นไปแล้วเริ่มบำรุงเพื่อ  เตรียมความพร้อมของต้น  โดยตัดแต่งกิ่ง  ปรับสภาพทรงพุ่มให้โปร่ง  เรียกใบอ่อนให้ได้ 1-2 ชุด เมื่อใบอ่อนออกมาแล้วให้เร่ง บำรุงใบอ่อนให้เป็นใบแก่โดยเร็ว ส่วนทางรากใส่ปุ๋ยอินทรีย์  ปุ๋ยเคมี  ยิบซั่มธรรมชาติ  กระดูกป่น  ตามปกติระยะเวลา 3 เดือน (พ.ค.-มิ.ย.-ก.ค.) ต่อการเรียกใบอ่อน 3 ชุดนั้น จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อต้นมีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะมาตรการบำรุงต้นให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องมาแล้วหลายๆปีติดต่อกัน            
     หมายเหตุ :                
     ต้นที่ผ่านการบำรุงแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องมานานหลายๆปีและในรุ่นปีการผลิตที่ผ่านมาไว้ผลน้อยแต่บำรุงเต็มที่  เมื่อถึงรุ่นปีการผลิตใหม่ให้เรียกใบอ่อนเพียง 1 ชุด  แล้วสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อได้เลย  ทั้งนี้เพื่อย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น            

     ช่วงต้น ส.ค.- กลาง ก.ย. 
(สะสมอาหารเพื่อการออกดอก)
     หลังจากใบอ่อนชุดสุดท้ายที่ต้องการเพสลาดแล้ว ให้ลงมือบำรุงทางใบด้วยสูตร สะสมอาหาร เพื่อการออกดอก 2-3 สูตร  ระยะการให้ห่างกันสูตรละ 5-7 วัน  และบำรุงทางรากอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเร่งให้ต้นได้สะสมทั้งอาหารกลุ่มสร้างดอกบำรุงผล (ซี) และกลุ่มสร้างใบบำรุงต้น (เอ็น) ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้          

     ช่วงปลายเดือน ก.ย.
(ปรับ ซี/เอ็น เรโช)                         
     ปรับ ซี/เอ็น เรโช.  โดยทางรากให้เปิดหน้าดินโคนต้น  งดน้ำเด็ดขาด  ส่วนทางใบให้สารอาหารสูตรสะสมตาดอกเหมือนเดิมแต่ให้พอเปียกใบ ระวังอย่าให้น้ำหยดลงพื้นเพราะจะทำให้มาตรการงดน้ำล้มเหลว  พร้อมกันนั้นให้เสริมด้วยการ  รมควัน  ทุก 2-3 วันช่วงหลังค่ำ  ครั้งละ 10-15 นาที  เพื่อเร่งให้ใบสลดแล้ว  "เหลือง-แห้ง-ร่วง"  เร็วขึ้น
                         
     ช่วงต้น ต.ค. 
(เปิดตาดอก)                               
     เปิดตาดอกด้วย  “13-0-46” หรือ “0-52-34” หรือ “13-0-46 + 0-52-34” สูตรใดสูตรหนึ่งสลับกับฮอร์โมนไข่  อย่างละ 2-3 รอบ  ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
     หมายเหตุ :           
   - กระท้อนก่อนฤดูออกสู่ตลาดพร้อมกับทุเรียน  เงาะ  มังคุด  อาจไม่ได้ราคาดี   แต่ถ้าเป็นกระท้อนคุณภาพเกรด เอ. ขนาดจัมโบ้ ก็พอสู้ได้            
   - ต้นที่สมบูรณ์เต็มที่เพราะได้รับการปฏิบัติบำรุงแบบมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องหลายปี  สามารถออกดอกได้เอง (ทั้งพันธุ์เบาและพันธุ์หนัก) โดยไม่ต้องเปิดตาดอกในช่วงเดือน ธ.ค.- ม.ค. จากนั้นก็จะทยอยออกมาเรื่อยๆกลายเป็นไม่มีรุ่น           
    - กระท้อนปีออกดอกในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. ดังนั้นการทำกระท้อนก่อนฤดูจึงต้องทำให้ออกดอกก่อนช่วงเดือนดังกล่าว  ด้วยการเตรียมความพร้อมต้นตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 (เรียกใบอ่อน) ทันทีหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นปีที่ผ่านมา  ควบคู่กับเร่งระยะเวลาการบำรุงตามขั้นตอนต่างๆให้เร็วขึ้นด้วย                    
    - เตรียมต้นที่จะทำให้ออกก่อนฤดูด้วยการเว้นการออกดอกติดผลในรุ่นปีการผลิตนี้ แล้วบำรุงต้นไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อรอโอกาส   หรือไว้ผลในต้นให้เหลือน้อยๆเพื่อไม่ให้ต้นโทรม   จะช่วยให้การทำให้ออกก่อนฤดูในรุ่นปี
การผลิตต่อไปง่ายและแน่นอนยิ่งขึ้น           
    - เนื่องจากธรรมชาติของกระท้อนออกดอกจากกิ่งแก่อายุข้ามปี  ระหว่างที่มีผลอยู่บนต้นนั้นถ้ามีกิ่งที่ไม่ออกดอกติดผลมากกว่ากิ่งที่ออกดอกติดผล  ให้เตรียมการบำรุงกิ่งที่ไม่ออกดอกติดผลนั้นให้ออกดอกแล้วทำเป็นกระท้อนก่อนฤดู  โดยหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้บำรุงด้วยสูตร  “สะสมอาหาร”  ทั้งทางรากและทางใบต่อได้เลย  ซึ่งขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกนี้อาจต้องใช้ระยะเวลานาน 3-4 เดือน  แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็ถือว่าคุ้ม           
    - ไม้ผลที่ผ่านการบำรุงมาอย่างดีแล้วต้องกระทบหนาวจึงออกดอกดีนั้น  ช่วงขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอก  ถ้ามีการให้  “นมสัตว์สดหรือกลูโคส + 0-52-34 หรือ 0-42-56 + สังกะสี”  ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ช่วงเช้าแดดจัด 1-2 รอบ  ให้รอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอก  จากนั้น อีก 20 วัน ให้อีกเป็นรอบ  2  ก็จะช่วยให้ต้นเกิดอาการอั้นตาดอกและส่งผลให้เปิดตาดอกแล้วมีดอกออกมาดีอีกด้วย
                    
       บังคับกระท้อนให้ออกหลังฤดู              
          
       เลือกกระท้อนพันธุ์อีล่า เพราะมีนิสัยออกดอกและเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่นโดยทำให้อีล่าออกช้ากว่าอีล่าด้วยกัน เพื่อบังคับให้เป็น  อีล่า-ล่าฤดู   หรือบังคับกระท้อนพันธุ์นิยมด้วยการยืดระยะเวลาในการบำรุงแต่ละระยะตามขั้นตอนให้นานขึ้นก็ได้    ดังนี้           
     1.เรียกใบอ่อนให้ครบทั้ง 3 ชุด เมื่อได้แต่ละชุดมาแล้วไม่ต้องเร่งให้เป็นใบแก่แต่ปล่อยให้แก่เองตามธรรมชาติเพื่อยืดระยะเวลา           
     2.ยืดเวลาขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกให้นานขึ้นด้วยสูตรสะสมอาหาร (ธาตุรอง/ธาตุเสริม/นมสัตว์สด) ไปเรื่อยๆโดยยังไม่ปรับ ซี/เอ็น เรโช. (งดน้ำ) แม้ว่าต้นจะพร้อมแล้วก็ตาม  จนกว่าจะได้ระยะเวลาที่ต้องการจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. แล้วเปิดตาดอก
     3.เมื่อดอกออกมาแล้วให้บำรุงไปตามปกติเพราะไม่สามารถยืดอายุดอกให้นานขึ้นได้
     4.บำรุงผลเล็กตามปกติ           
     5.บำรุงระยะผลขนาดกลางด้วย  สูตรบำรุงผลให้แก่ช้า  จนกระทั่งได้เวลาเก็บเกี่ยวตามต้องการจึงเปลี่ยนมาบำรุงด้วยสูตรบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวตามปกติ           
       หมายเหตุ :           
       ในเมื่อกระท้อนปีออกดอกในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ.  ดังนั้นการทำกระท้อนล่าฤดูจึงต้องทำให้ออกดอกหลังช่วงเดือนดังกล่าวให้นานที่สุดเท่าที่สภาพภูมิอากาศและสภาพต้นอำนวย แล้วปฏิบัติบำรุงตั้งแต่ขั้นตอนแรก (เรียกใบอ่อน) จนถึงขั้นตอนสุดท้าย (บำรุงผลแก่) แบบยืดเวลาให้นานขึ้น      

view