สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลักการและเหตุ

1.ปุ๋ย หมายถึง สารเหลวที่พืชนำไปใช้สร้างและบำรุงส่วนต่างๆ ของต้นให้เจริญพัฒนา เรียกว่า “ธาตุอาหาร” ประกอบด้วย ธาตุหลัก (ไนโตรเจน. ฟอสฟอรัส. โปแตสเซียม)ธาตุรอง (แคลเซียม. แม็กเนเซียม. กำมะถัน)ธาตุเสริม (เหล็ก. ทองแดง. สังกะสี. แมงกานิส. โบรอน. โมลิบดินั่ม. ซิลิก้า. คลอรีน. โซเดียม. นิเกิล. โคบอลท์ ฯลฯ)ฮอร์โมน (ไซโตคินนิน. จิ๊บเบอเรลลิน. ไอเอเอ. เอบีเอ. ไอบีเอ. อะมิโน. โปรตีน ฯลฯ)อื่นๆ (ดินหรือวัสดุปลูก. น้ำ. อากาศ. แสงแดด. อุณหภูมิ. สายพันธุ์ ฯลฯ)ปุ๋ยหรือธาตุอาหารพืชมีหลายสถานะ เช่น น้ำ เม็ด ผง เกร็ด ครีม จากสถานะเดิมจะเป็นเช่นไรก็ตามก่อนที่พืชจะนำไปใช้งานได้ต้องเปลี่ยนสถานะ ให้เป็นของเหลวก่อนเสมอ ดังนั้น สิ่งใดที่มีธาตุหลัก ธาตุรอง ธาตุเสริม ฮอร์โมน และอื่นๆ ที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จึงเรียกว่า  “ปุ๋ย หรือ ธาตุอาหาร”  ทั้งสิ้น


     2.ธาตุอาหารพืช มีอยู่ในอินทรียวัตถุและอนินทรีย์วัตถุ......อินทรีย์วัตถุ หมายถึง วัสดุที่ได้จากสัตว์และพืช เรียกว่า “ปุ๋ยอินทรีย์” เช่น เศษซากสัตว์ มูลสัตว์ เศษซากพืช น้ำคั้นจากพืช และ.....อนินทรีย์วัตถุ หมายถึง วัสดุที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีวิทยาศาสตร์ เรียกว่า “ปุ๋ยสังเคราะห์ หรือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์” เช่น ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนวิทยาศาสตร์
 
     3.ธาตุอาหารพืช สัตว์ คน คือตัวเดียวกัน สังเกตได้จากการเขียนสัญลักษณ์ทางเคมีของชื่อธาตุอาหารเป็นตัวอักษรตัวเดียว กัน แต่ธาตุอาหารที่พืช สัตว์ คน นำไปใช้ต่างกันที่ “รูป” เท่านั้น

     4.ในเมือกและเลือดปลาสดมีธาตุไนโตรเจนมากกว่ายูเรีย (46-0-0) 1 เท่าตัว ซึ่งสามารถใช้แทนกันได้ โดยจุลินทรีย์จะทำหน้าที่เปลี่ยน  “รูปไนโตรเจน”  ในเมือกและเลือดปลาให้เป็น  “รูปไนโตรเจน”  ที่พืชสามารถนำไปใช้ได้
 
    5.ในปลาทะเลมีกรดอะมิโน  โอเมก้า  แม็กเนเซียม  และโซเดียม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืชจำนวนมาก

    6.ในหนอนมีกรดอะมิโน ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและสัตว์มากถึง 18 ชนิด

   7.พืชกินธาตุอาหารที่มีสถานะเป็นของเหลวด้วยการดูดซึมเข้าทางปลายราก (หมวกราก) และทางปากใบ ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ยังคงมีสภาพเป็นชิ้นหรือเป็นก้อนอยู่นั้น พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้จะต้องทำให้อินทรียวัตถุนั้นเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว หรือน้ำเสียก่อนพืชจึงจะนำไปใช้ได้....การเปลี่ยนสถานะอินทรียวัตถุให้เป็น ของเหลวสามารถทำได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ โดยเริ่มจากหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วบดให้ละเอียด จากนั้นนำไปผสมกับสารรสหวานจัด (กากน้ำตาล กลูโคส น้ำผลไม้หวาน) ด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสม ใส่จุลินทรีย์เล็กน้อย ติดปั๊มออกซิเจนเพื่อให้อากาศแก่จุลินทรีย์ หมักทิ้งไว้นานๆในสถานที่ ภาชนะ และระยะเวลาที่กำหนด จุลินทรีย์จะเป็นตัวย่อยสลายอินทรียวัตถุเหล่านั้นให้มีขนาดเล็กลงถึงระดับ โมเลกุล ซึ่งเล็กจนสามารถผ่านปลายรากและปากใบเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของต้นพืชได้

      8.ปุ๋ยอินทรีย์ชิ้นขนาดเท่าปลายเข็มหรือเล็กกว่า รากพืชก็ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ลำต้นได้ ต้องเปลี่ยนสภาพปุ๋ยอินทรีย์ชิ้นเท่าปลายเข็มนั้นให้เป็นของเหลวเสียก่อน พืชจึงจะดูดซึมเข้าสู่ลำต้นไปใช้ได้

      9.การหมัก หมายถึง กระบวนการย่อยสลาย (เอ็นไซม์)  โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวกระทำต่ออินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุเพื่อเปลี่ยน สภาพจากเดิมที่เป็นชิ้นให้เป็นของเหลว

     10.การหมักสามารถทำได้ทั้ง  “หมักในภาชนะ หมักในกอง และหมักในดิน”  ระยะเวลาในการหมักจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความแข็งแรง/จำนวน/ประเภทของจุลินทรีย์. ชนิด/ประเภทของอินทรียวัตถุ. สภาพแวดล้อม (อุณหภูมิ/น้ำ/อากาศ). ระยะเวลา. อัตราส่วนของวัสดุส่วนผสม. อาหารสำหรับจุลินทรีย์. และปัจจัยอื่นๆที่จำเป็น
 
     11.ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ. ปุ๋ยน้ำชีวภาพ. น้ำสกัดชีวภาพ. ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ. ปุ๋ยชีวภาพ. ปุ๋ยพืชสด. ปุ๋ยซากสัตว์ และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นตัวเดียวกันเพราะทำมาจากวัสดุส่วนผสมและด้วยกรรมวิธีในการทำแบบ เดียวกัน จึงต่างกันแต่เพียงชื่อเท่านั้น

     12.การฝังซากสัตว์หรือซากพืชที่โคนต้นไม้ผลบริเวณชายพุ่ม ช่วงแรกๆ จะยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆในทางที่ดีขึ้นจากไม้ต้นนั้น แต่ครั้นนานไปเมื่อซากสัตว์หรือซากพืชเน่าเปื่อย ไม้ผลต้นนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การที่ซากสัตว์หรือซากพืชเน่าเปื่อยได้ก็คือการ “หมักในดิน” โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวดำเนินการให้นั่นเอง  

     13.ซากสัตว์ที่หมักลงไปในดินใหม่ๆ หรือระยะแรกๆ หรือระหว่างที่ซากสัตว์กำลังเน่าเปื่อยนั้นมีความเป็นกรดจัดมาก เป็นอันตรายต่อระบบรากหรือทำให้รากเน่าได้ ดังนั้นจึงไม่ควรฝังซากสัตว์ในช่วงที่ต้นพืชกำลังอยู่ในระยะสำคัญ เช่น ระยะกล้า. สะสมอาหาร. เปิดตาดอก. บำรุงดอก. บำรุงผล ฯลฯ ทั้งนี้ การฝังซากสัตว์จะต้องกระทำก่อนหน้านั้นนานๆ เพื่อให้เวลาแก่จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายหรือแปรสภาพซากสัตว์จนหมดความเป็น กรดแล้วเปลี่ยน  “รูป”  มาเป็นรูปของธาตุอาหารพืชที่พืชพร้อมนำไปใช้ได้......การหมักซากสัตว์แบบ ปุ๋ยน้ำชีวภาพนานข้ามปีแล้วจึงนำมาใช้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ได้แต่ ต้องไม่ลืมตรวจวัดค่ากรดด่างแล้วปรับให้เป็นกลางก่อนใช้เสมอ
 
     14.ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่มีกากน้ำตาลเป็นส่วนผสม หมักใหม่หรืออายุการหมักสั้น มีความเป็น “กรด” สูงมาก (2.5-3.0) โดยปุ๋ยน้ำชีวภาพซากสัตว์เป็นกรดจัดมากกว่าเศษพืช เมื่อฉีดพ่นทางใบจะทำให้เกิดอาการ ใบไหม้ ใบจุด ดอกร่วง ผลด่างลาย/ร่วง เมื่อไม่แน่ใจว่าปุ๋ยน้ำชีวภาพเป็นกรดจัดหรือไม่ ขอให้งดการให้ทางใบแล้วให้ทางรากแทน แม้แต่การให้ทางดินบ่อยๆ หรือประจำๆ ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จนเกิดการสะสมก็อาจทำให้ดินเป็นกรดได้เช่นกัน

     15.ปุ๋ยน้ำชีวภาพกล้อมแกล้มสูตรมาตรฐาน ผ่านกรรมวิธีการหมักถูกต้อง อายุการหมักนานข้ามปี เมื่อวัดค่ากรดด่างจะได้ประมาณ 6.0-7.0 จึงถือว่าดี ถูกต้อง และใช้ได้

     16.วิธีการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าในปุ๋ยน้ำชีวภาพแต่ละสูตรหรือแต่ละยี่ห้อ มีปริมาณธาตุพืชมากหรือน้อยกว่ากัน สามารถพิสูจน์ได้โดยการบรรจุปุ๋ยน้ำชีวภาพใส่ขวดขนาดเดียวกันหรือปริมาตร เท่าๆ กัน แล้วนำขึ้นชั่งด้วยตาชั่งที่มีมาตรวัดละเอียดมากๆ ตรวจค่าความถ่วงจำเพาะ (ถพ.) ขวดที่หนักกว่าแสดงว่ามีธาตุอาหารพืชมากกว่าหรือนำลงจุ่มน้ำ ขวดที่จมน้ำได้ลึกกว่าแสดงว่ามีปริมาณธาตุอาหารมากกว่า

     17.อาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ที่ปรุงโดยการต้มเคี่ยว หรือตุ๋นจนเหลวเปื่อยยุ่ย เช่น แกงจืดจับฉ่าย น้ำต้มกระดูก   ซุปไก่แบลนด์  น้ำหวานจากน้ำตาลหรือผลไม้คั้น วิตามินบำรุงร่างกายคน/สัตว์ ฯลฯ ยังมีธาตุอาหารครบถ้วนตามวัสดุที่นำมาปรุง หากนำน้ำอาหารที่เหลวเปื่อยยุ่ยแล้วนี้ให้แก่พืชบ้าง พืชก็จะได้รับธาตุอาหารตัวเดียวกันนี้เช่นกัน

     18.พืชสามารถนำธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของต้นได้ทั้งทางปลายราก และปากใบ เมื่อให้ธาตุอาหารทางใบด้วยการฉีดพ่น ธาตุอาหารส่วนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กสามารถผ่านปากใบได้จะผ่านเข้าไปทันที ส่วนธาตุอาหารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านปากใบเข้าไปได้ยังติด ค้างอยู่บนใบ เมื่อถูกน้ำชะล้างก็จะตกลงดินแล้วถูกจุลินทรีย์ในดินทำการย่อยสลายต่อให้ โมเลกุลมีขนาดเล็กลงอีกจนสามารถผ่านปากรากได้ พืชก็จะได้รับธาตุอาหารนั้นต่อไป     

     19.การหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพโดยใช้ถังหมักที่แข็งแรง มีฝาปิดเรียบร้อย มีระบบให้ออกซิเจนแล้วฝังลงดินจนมิดถัง มีระบบป้องกันน้ำเข้าไปในถังได้แน่นอนนั้น อุณหภูมิใต้ดินที่เย็นกว่าบนดินนอกจากจะช่วยให้กระบวนการหมักดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพใช้การได้เร็วขึ้นอีกด้วย

     20.เสริมประสิทธิภาพจุลินทรีย์ในถังหมักให้แข็งแรงยิ่งขึ้นด้วยการใส่ปุ๋ย สูตร 18-46-0 (100 กรัม) หรือ 21-53-0 (100 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง หรือน้ำมะพร้าวอ่อน 1-2 ล. ต่อวัสดุส่วนผสมในถัง 100 ล.

     21.การใช้ถังหมักแบบมีใบพัดปั่นหมุนภายในตลอด 24 ชม. นอกจากจะเป็นการช่วยบดย่อยวัสดุส่วนผสมให้ละเอียดยิ่งขึ้นแล้วยังส่งผลให้ ปุ๋ยน้ำชีวภาพนั้นใช้การได้เร็วขึ้น

     22.ไม่ควรใช้พืชผักจากตลาดเพราะเป็นพืชผักที่เก่าแล้วและอาจปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ จากตลาดมาด้วย
 
  23.ไม่ควรใช้ซากสัตว์ที่ตายนานแล้วหรือเน่าแล้วแต่ให้ใช้ซากสัตว์สดและใหม่ โดยเลือกใช้สัตว์ขณะที่ยังมีชีวิตหรือตายใหม่ๆ จะได้ธาตุอาหารพืชที่ดีกว่า
 
    24.ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรมาตรฐานที่ดีจะต้องไม่มีกลิ่นของวัสดุส่วนผสมตัวใดตัว หนึ่งเพียงตัวเดียวชัดเจน ซึ่งเป็นการแสดงให้รู้ว่าใช้วัสดุส่วนผสมไม่หลากหลาย ยกเว้นสูตรเฉพาะซึ่งจะต้องมีกลิ่นเฉพาะตัว และปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ดีต้องมีกลิ่นหอม-หวาน-ฉุน

view