สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

View

อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ อำเภอแกลง กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกของประเทศ มีสภาพป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารของจังหวัดระยอง มีสัตว์ป่าชุกชุม และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก หน้าผา ถ้ำ ทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่งดงาม อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง มีเนื้อที่ประมาณ 52,300 ไร่ หรือ 83.68 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2517 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2517 ที่ประชุมได้มอบให้กรมป่าไม้ไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของป่าเขาชะเมา-เขาวง ท้องที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เลขาธิการนิยมไพรสมาคม ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2517 กับชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ปทุมวัน ได้มีหนังสือ ที่ ชอธ. 020/2517 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ขอให้พิจารณาจัดตั้งบริเวณพื้นที่ป่าเขาชะเมา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารของจังหวัดระยอง ประกอบด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเช่นกัน ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2517 ได้ตีพิมพ์บทความ “ เสียงเรียกจากป่าเขาชะเมา ” เขียนโดย นายไพบูลย์ สุขสุเมฆ เรียกร้องให้พิจารณากำหนดป่าเขาชะเมา-เขาวง ให้เป็นวนอุทยานหรืออุทยานแห่งชาติเพื่อรักษาไว้ก่อนที่จะถูกบุกรุกทำลาย

กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่ง ที่ 1017/2517 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2517 ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการสำรวจแนวเขตป่าและสภาพพื้นที่ป่าเขาชะเมา-เขา วง ในท้องที่จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี ปรากฏว่ามีสภาพเป็นป่าดงดิบเป็นต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่าชุกชุมและธรรมชาติที่สวยงาม กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ซึ่งมีมติให้กำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาชะเมาในท้องที่ตำบลทุ่งควาย กิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และตำบลแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และป่าเขาวงในท้องที่ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และตำบลนายายอาม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 267 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 13 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของป่าเขาชะเมาเป็น เทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินแปร หินไนส์ หินชีสต์ ซึ่งเกิดในยุคเพอร์เมียน มีอายุระหว่าง 225-270 ล้านปี มียอดเขาสูงสุด คือ ยอดเขาชะเมา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,024 เมตร เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำของห้วยหลายสายด้วยกันคือ คลองระโอก คลองโพล้ คลองหินเพลิง เป็นต้น ซึ่งลำคลองเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำประแสร์เส้นชีวิตของจังหวัดระยอง และสภาพภูมิประเทศป่าเขาวงเป็นพื้นที่ภูเขาหินปูนทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้เป็น ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ล้อมกันเป็นวง เป็นเขาหินปูนปูนในยุคเพอร์เมียน ลักษณะภูมิประเทศเป็นแบบ Karst ลักษณะเป็นเขาลูกโดดหรือยอดเขาหลายยอด ซึ่งเกิดจากการละลายตัวของหินปูนเมื่อถูกน้ำฝน โดยรอบของเทือกเขาส่วนใหญ่เป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตร บริเวณตอนกลางเทือกเขาปรากฏหลุมยุบมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 กิโลเมตร ภายในมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและมีความชื้นสูง ยอดเขาสูงสุดอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 162 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของคลองนายายอาม

 ลักษณะภูมิอากาศ

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ตั้งอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุก ความชื้นสูง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 2,900 มิลลิเมตร ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าโปร่ง และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปี 26-27 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า

จากสภาพภูมิประเทศของเขาชะเมาที่เป็น เทือกเขาสูงชัน ปริมาณน้ำฝนสูง ประกอบกับพื้นที่อยู่ใกล้ทะเล จึงทำให้พืชพรรณที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น มีป่าดิบแล้งกระจายทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ และในระดับที่สูงขึ้นไปปรากฏเป็นสังคมของป่าดิบเขา และบริเวณบางส่วนในเขาวงเป็นลักษณะของป่าเขาหินปูน ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง

บริเวณที่เป็นสังคมพืชของป่าดิบทั้งป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ตั้งแต่ตอนล่างจนถึงระดับที่มีความสูงประมาณ 800 เมตร ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะพลับ มะกล่ำต้น พลับ มะไฟ หนามขี้แรด กระบก ตาตุ่มบก ดีหมี มะเกิ้ม ยมหิน ทำมัง เสี้ยวป่า เปล้าหลวง ตะแบก หว้า มะค่าโมง นนทรีป่า แคหางค่าง มะเดื่อ และมะม่วงป่า ฯลฯ เนื่องจากสภาพเรือนยอดของป่าประเภทนี้เรียงตัวต่อเนื่องชิดกัน ทำให้มีความชุ่มชื้น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ชะนีมงกุฎ นกกก นกเขาใหญ่ นกโพระดกสวน นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า สำหรับบริเวณพื้นล่างซึ่งมีไม้พุ่ม ลูกไม้ของไม้ใหญ่ หวาย พืชในวงศ์ขิงข่าขึ้นมาปกคลุมเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของไก่ป่า นกเขาเขียว และไกฟ้าพญาลอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นที่หลบซ่อนตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิด เช่น ช้างป่า และกระทิง บริเวณพื้นป่าซึ่งเป็นที่ลุ่มหรือบริเวณใกล้ร่องน้ำจะพบหมูป่าและกวางป่าใช้ เป็นแหล่งปลักโคลนสำหรับนอนแช่ปลัก

สภาพพื้นที่ในระดับสูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป ถูกปกคลุมด้วยป่าดิบเขาซึ่งมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ รง ก่อเดือย เนียนดำ พลองดำ เหมือดแก้ว ตังหนใบใหญ่ มะก่อ ฯลฯ ซึ่งบางแห่งเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติที่ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุม และลานหินขนาดใหญ่ที่มีหญ้าขึ้นปกคลุมบ้างเล็กน้อย ในบริเวณที่มีตะกอนดินขังอยู่ตามลอยแตกของลานหิน สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มักเป็นนกภูเขาที่อาศัยอยู่ตามเรือนยอดต้นไม้ใหญ่ เช่น นกมุ่นรกภูเขา บริเวณพื้นล่างของป่าดิบเขาเป็นที่อาศัยของกระทิง ช้างป่า ส่วนบริเวณหน้าผาก็เป็นที่อยู่อาศัยของเลียงผา สำหรับในบริเวณที่เป็นลำห้วยลำธาร ปลาที่พบได้แก่ ปลาซิวหางกรรไกร ปลาซิวหางแดง ปลาสร้อยนกเขา ปลาค้อ ปลาช่อน ปลาหมอช้างเหยียบ ปลากระดี่หม้อ ปลากดเหลือง และปลากระทิง เป็นต้น

ในบริเวณพื้นที่ส่วนพื้นที่เปิดโล่งติดกับป่าหรือติดชายน้ำ สัตว์ป่าที่พบจะเป็นพวกนกในวงศ์ยาง นกกระแตแต้แว้ด นกกระปูดใหญ่ ตะกอง และกบหนอง สำหรับในบริเวณเขาวงซึ่งสภาพโดยทั่วไปมีถ้ำขนาดต่างๆ จำนวนมาก สังคมพืชส่วนใหญ่เป็นป่าเขาหินปูน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ลำป้าง โสกเขา ทุเรียนป่า ข่อยหนาม โสกน้ำ และหว้า ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น กระรอกหลากสี กระจ้อน หนู และค้างคาวชนิดต่างๆ นอกจากนี้ก็มีสัตว์ป่าจำพวกนก เช่น ไก่ป่า นกแอ่นตาล นกปรอดเหลืองหัวจุก ฯลฯ ภายในถ้ำยังพบแมลงหลายชนิดที่หากินในถ้ำ

ข้อมูลจาก http://www.dnp.go.th

Image3

Image4

Image5
view