สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร

1. หลักการ
เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวเปลือก ที่ไม่บิดเบือนกลไกตลาดและช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐบาล โดยในระยะแรกจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรนอกจากการรับจำนำและในระยะ ยาวจะเป็นระบบแทนที่การรับจำนำ 


2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวเปลือกที่สูงขึ้น
2. เพื่อเป็นการใช้กลไกตลาดในการสร้างเสถียรภาพราคาในระยะยาวและมีความยั่งยืน
3. เพื่อลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร

3. การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง
คณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงพืชเศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิด ทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายอัตราชด เชยรายได้ให้เกษตรกร แล้วนำเสนอประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ประธานกรรมการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประธาน กขช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยประกาศทุกวันที่ 1 และ วันที่ 16 ของเดือน

4. ระยะเวลาดำเนินการ
1. การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการจัดประชุมประชาคม เพื่อรับรองการผลิตของเกษตรกร โดยคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบล เดือน กรกฎาคม – กันยายน 2552 ข้าวนาปีขยายเวลาถึง เดือน ตุลาคม 2552
2. การทำสัญญาประกันราคา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2552 โดย ธ.ก.ส. ทำสัญญาประกันราคากับเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ

5. เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ
1. เป็นเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2552/53 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 หรือข้าวเปลือก ปี 2552/53 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มีรายชื่อในระบบโปรแกรมของ ธ.ก.ส.)
2. เป็นเกษตรกรที่มีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนการปลูกมันสำปะหลัง ปี 2552/53 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 หรือข้าวเปลือก ปี 2552/53 ที่ออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร
3. เข้าร่วมโครงการได้ครัวเรือนละ 1 รายเว้นแต่แยกการทำกินสามารถเข้าร่วมได้มากกว่า 1 ราย
4. เกษตรกรทั่วไปขอเข้าโครงการได้ตามภูมิลำเนา (สำเนาทะเบียนบ้าน) ณ ธ.ก.ส. สาขาที่ตั้งภูมิลำเนา
5. ลูกค้า ธ.ก.ส. ขอเข้าโครงการได้ ณ ธ.ก.ส. สาขาที่ลูกค้าสังกัด

6. การจัดทำสัญญาและระยะเวลาใช้สิทธิประกัน

สินค้าเกษตร ระยะเวลาใช้สิทธิประกัน
มันสำปะหลัง
เกษตรกรใช้สิทธิการประกันได้นับถัดจากวันทำสัญญา 45 วัน แต่ไม่เกิน 6 เดือน แต่ต้องไม่เกิน 31 พฤษภาคม 2553
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
เกษตรกรใช้สิทธิการประกันได้หลังจากวันทำสัญญา 15 วัน แต่ไม่เกิน 3 เดือนนับถัดจากวันทำสัญญา แต่ต้องไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
ข้าวเปลือก
เกษตรกรสามารถใช้สิทธิการประกันได้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2552 แต่ต้องไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553

ผลดีของการใช้นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร
1. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับส่วนต่างระหว่างเกณฑ์กลางอ้างอิงกับราคา ประกันเป็นเงินโดยตรงจากรัฐ กรณีราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกัน ช่วยให้เกษตรกรไม่ขาดทุนจากการขายผลผลิต
2. การจดทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูกเพื่อทำประกันราคาจะช่วยลดปัญหาการสวมสิทธิ์จากการผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้าน
3. ไม่เป็นภาระกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างระหว่าง ราคาตลาดอ้างอิงกับราคาประกันให้กับเกษตรกรเท่านั้น รัฐบาลไม่ต้องรับภาระเกี่ยวกับการแปรสภาพและการจัดเก็บผลผลิตในสต็อกของ รัฐบาล
4. ลดปัญหาการทุจริต และการแสวงหาประโยชน์จากการรับจำนำของผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ คงเหลือเพียงระดับเกษตรกร และเจ้าหน้าที่จดทะเบียน
5. กลไกการค้าผลิตผลเข้าสู้ภาวะปกติ กลับมามีการแข่งขัน รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการค้า

ผลกระทบที่เกิดจากการประกันราคา
1. มีโอกาสเกิดการทุจริตในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การรับรองพื้นที่ และปริมาณผลผลิต
2. หากกำหนดราคาประกันสูง จะทำให้เกิดแรงจูงใจแก่เกษตรกรเพิ่มเนื้อที่การผลิต
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มบุคลากรจำนวนมากมาสนับสนุนการดำเนินงานเพราะคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกือบทั้งหมด
4. หากราคาผลผลิตตกต่ำมากจะเป็นภาระของรัฐบาลในการจัดหาเงินทุนมาชดเชยแก่ เกษตรกร โดยเฉพาะการร่วมมือกันกดดันราคาของผู้ค้าผลิตผลทางการเกษตร
5. หากเกษตรกรขายผลผลิตได้ต่ำกว่าราคาตลาดอ้างอิงมาก อาจชุมนุมเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลช่วยเหลือ
6. ผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการรับจำนำ ไม่สนับสนุนการดำเนินงาน


ประกันรายได้เกษตรกร
พฤศจิกายน 4, 2009 by admin
Filed under เกษตรชุมชน โดย การุณย์ มะโนใจ
Leave a comment


ทุ่งนาดอยหลวง16
ในช่วงนี้เห็นเกษตรกรวิ่งวุ่นไปขอขึ้นทะเบียนการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อนำใบรับรองไปทำสัญญาเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ของเกษตรกรกับทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ซึ่งที่จริงแล้วขั้นตอนการจะเข้าร่วมโครงการฯ เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 เมื่อรัฐบาลอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตรโดย สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ จ้างผู้ว่างงาน ผู้จบการศึกษาใหม่ ยังไม่มีงานทำ มาเป็นเจ้าหน้าที่สำรวจและเก็บข้อมูลเกษตรกรเพื่อปรับปรุงการขึ้นทะเบียน เกษตรกร

โดยจะเก็บข้อมูลพื้นฐานทางการเกษตรทุกด้าน คือ เก็บรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกพืชทุกชนิด การเลี้ยงสัตว์ การประมงและเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้มีการประชาสัมพันธ์ โดยเน้นการความรวดเร็ว ถูกต้อง และทั่วถึง แต่ก็มีเกษตรกร จำนวนหนึ่งไม่มาขึ้นทะเบียน ด้วยคิดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร สิ้นสุดการดำเนินการไปแล้วในวันที่ 30 กันยายน 2552

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มอบหมายให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการประกันรายได้ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ โดยแบ่งความรับผิดชอบเป็นส่วนๆ เริ่มโครงการไล่ๆกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

โดยดำเนินการในพืชเศรษฐกิจ 3 ตัว คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว มีการขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจ ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอแล้วออกใบรับรองเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจดังกล่าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สิ้นสุดการขึ้นทะเบียน วันที่ 30 กันยายน 2552 พร้อมการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ส่วนข้าวขยายระยะเวลาถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2552 ซึ่งก็หมดเวลาไปแล้วเช่นเดียวกัน

การขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจเกษตรก่อนจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อน ในรายละเอียดการขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจนั้นจะมีขั้นตอนการทำประชาคม เพื่อรับรองข้อมูล ซึ่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(หมายถึงปลัดเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วแต่พื้นที่) เป็นประธานคณะกรรมการ มีกำนันผู้ใหญ่บ้านพื้นที่เป็นกรรมการ มีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบตำบลเป็นเลขานุการคณะกรรมการ

จากนั้นเป็นหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ในการทำสัญญาเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ของเกษตรกรที่ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิด กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ประกาศราคาอ้างอิงที่จะประกาศทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน

โดยรัฐบาลจะตั้งราคาประกันให้กับพืชแต่ละชนิดไป เมื่อเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและขอใช้สิทธิ์ในช่วงใด ราคาที่แตกต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิงในช่วงนั้น คือ ส่วนที่ทาง ธกส. จะโอนเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกร หากราคาอ้างอิงและราคาประกันเท่ากัน หรือราคาอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรก็จะไม่ได้รับการชดเชย

จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจของจังหวัดพะเยา ที่น้อยกว่าพื้นที่การประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดคะเนได้หลายปัจจัย เช่น เกษตรกรอาจคิดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จึงไม่ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร เมื่อรัฐบาลกำหนดนโยบายการประกันรายได้ เมื่อเลยเวลาการขึ้นทะเบียนแล้วจึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

เกษตรกรบางรายคิดว่าการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกร มีการดำเนินการเหมือนโครงการจำนำข้าว คือ ต้องมีการส่งมอบสินค้าจึงไม่สนใจไปขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะโครงการประกันรายได้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องส่งมอบสินค้า เกษตรกรปลูกไว้เพื่อบริโภค ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หากเลือกช่วงระยะเวลาถูกช่วงเกษตรกรก็จะได้รับเงินในส่วนต่างของราคาอ้างอิง และราคาประกันได้

เกษตรกรควรจะนำเรื่องดังกล่าวเป็นบทเรียน ไม่เข้าใจหรือติดใจมีข้อสงสัย สอบถามจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล หรือเกษตรตำบลของท่าน หรือจะสอบถามจากสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา ได้ทางโทรศัพท์ หมายเลข 054887050-1 ได้ทุกวันเวลาราชการ

จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ครับผม


view