สาวิตรี รังสิภัทร์ และกฤษณะ ภานุวาส สัมภาษณ์
นันทกา แสงจันทร์ เรียบเรียง
ปัญหาการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรในยุคปัจจุบัน…
“ ปัญหาของการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตร คือ นักส่งเสริมฯ ต้องไปทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ จะให้นักส่งเสริมฯ อยู่ข้างล่างแล้วผู้ใหญ่ลงมาหรือเปล่า เดี๋ยวนี้มันไม่ลง พอขึ้นข้างบนแล้วลงข้างล่างไม่เป็นเยอะเลย พูดตรงๆ กุญแจสำคัญต้องไล่ลงมาจากสุดยอดก่อน ใช้แต่ลูกน้องลง แล้วบอก ไปบีบคอไก่ตัวผู้ให้ออกไข่ มันไม่ออกหรอก วิญญาณมันไม่มี… ”
การปฏิบัติตนของนักส่งเสริมการเกษตรในการทำงานร่วมกับคนทุกสาขาอาชีพ
1. ลดตัวลงมา แล้วก็อย่าไปดูถูกเขา
2. ใช้อำนาจให้ถูกด้าน ธรรมชาติของคนที่มีอำนาจ พอลงมาทำงานร่วมกับคน ข้างล่างแล้ว มันซึ้งนะ…
3. จิตใจต้องอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ไม่ใช่มายาภาพ
4. ต้องมีเมตตา
5. มองทุกคนเป็นคนดี ถ้าใจเราดี เราก็เห็นความดีของคนให้ใช้หลัก “ น้ำดีไล่น้ำเสีย ” หมายความว่า แม้คนเราจะมีความดีนิดเดียว ถ้าเราชี้ให้เขาเห็นความดีของเขาเอง เขาก็จะภูมิใจ แล้วส่วนที่ไม่ดีของเขาจะออกไปเอง
6. ทำงานลงพื้นดิน ถ้าทำงานอยู่กับพื้นดิน มันเกิดปัญญา คนเราเกลียดพื้น ดิน ปัญญามืดบอด คิดแต่จะได้อย่างเดียว
คำนิยาม “ งานส่งเสริมการเกษตร ”
งานส่งเสริมการเกษตร คือ การรักแผ่นดินกำเนิด “ การเกษตรเป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่อาชีพ… วัฒนธรรม คือ วิญญาณความรักพื้นดิน การส่งเสริมการเกษตรไม่ใช่ว่าส่งเสริมเรื่องของวิธีการหรือเรื่องของ เทคโนโลยีแต่เป็นการส่งเสริมให้เข้าถึงวัฒนธรรมของเรา เราทิ้งพื้นดินไม่ได้ การเกษตรนี้เป็นชีวิต ใช้ชีวิตอยู่ใกล้พื้นดินอยู่ตลอดเวลา เราเป็นหนี้บุญคุณพื้นดิน ตอนนี้เมืองไทยอยู่ในสภาพที่แม่ธรณีร้องไห้แล้ว ”
“ สิ่งที่เราส่งเสริมกันมานั้น จะว่ามาผิดทางก็ได้ เพราะคนทำเกษตรมันลืมตัว…คนไม่ลืมตัว ก็ไม่ลืมพื้นดินหรอก ”
งานส่งเสริมการเกษตรต้องส่งเสริมผู้ไม่รู้ตัวเอง…ให้รู้ตัวเอง
งานส่งเสริมต้องส่งเสริมผู้ไม่รู้ตัวเอง…ให้รู้ตัวเอง หมายความถึง ผู้ส่งเสริมฯ และผู้ได้รับการส่งเสริมฯ จะต้องค้นหาตัวเองให้เจอ
ปัญหา คือ คนที่จะไปส่งเสริมเขายังไม่รู้ตัวเอง เวลาจะไปส่งเสริมก็เลยไม่รู้ว่าจะไปส่งเสริมเรื่องอะไร… และชอบคิดว่าตัวเองวิเศษกว่าเขา คิดว่าตัวเองเป็นนักวิชาการ ความรู้ในตำรา ถ้าไม่รู้ตัวเอง เทคโนโลยีก็ครอบเราหมด แต่ถ้าเรารู้ตัวเอง เราก็ไม่ถูกเทคโนโลยีครอบ ผู้ที่จะไปส่งเสริมฯ เขา ต้องค้นหาความจริง ค้นหาตัวเองให้เจอ อย่าไปยึดติดกับสาขาวิชา สาขาวิชาเป็นของปลอม ของจริง คือ คนที่ทำงานจริงๆ เท่านั้น
ส่วนผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ก็ยังไม่รู้ตัวเองเหมือนกันว่าต้องการทำอะไร ชอบทำตามคนอื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไปทำตามคำแนะนำของราชการหรือของคนอื่นที่ให้ปลูกอย่างโน้นซิดี…ปลูกอย่างนี้ ซิดี…บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ คนถูกเงินทำลาย จนกระทั่งไม่เป็นตัวของตัวเองกันไปหมดแล้ว ความซื่อสัตย์ต่อตัวเองหายไปเยอะเลย
บทบาทของนักส่งเสริมฯ ที่ควรตระหนักในปัจจุบัน
1. ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกว่าคนนี้เป็นนักวิชาการ คนนั้นเป็นชาวบ้าน และไม่มีคำว่า“ นักอะไร ” ทุกคนเป็น“ คน ” เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการเคารพซึ่งและกัน สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น
2. นักส่งเสริมฯ ต้องรู้ตัวเอง อย่ายึดติดกับเทคโนโลยี ถ้ารู้ตัวเองก็รู้ได้ทุกเรื่อง
3. ส่งเสริมให้เกษตรกรรู้ตัวเอง คือ ช่วยเหลือตัวเองและพึ่งตัวเองได้
คุณสมบัติของนักส่งเสริมฯ ที่ต้องมี
1. อ่อนน้อมถ่อมตน ยกคนอื่นไว้เหนือตนเสมอ
2. มีฐานในการทำงาน ตัวฐานอยู่ที่ใจเราเอง หมายความว่า ใจเราอยู่ตรงนี้ ไม่หลงอยู่กับเทคโนโลยี อย่าให้ถูกเทคโนโลยีครอบ
3. ใจต้องหนักแน่น คำว่า “หนักแน่น” มีหลักอยู่อันเดียว คือ เอาชนะใจตนเองให้ได้ ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง
4. ไม่นิ่งดูดาย คำว่า “ไม่นิ่งดูดาย” คือ ไม่ใช่ว่าคนนี้ไม่รู้จัก ก็ไม่ช่วยเหลือเขา
5. มีศรัทธา ศรัทธาทำให้ทุกอย่างไปได้ ศรัทธาไม่ต้องสร้างแต่ขอให้ทำงานอย่างมีความสุข ทำงานกับทุกคนได้ ทำงานด้วยความจริงใจ ถ้าเราจริงใจ เราก็มีความสุข ศรัทธามันเกิดขึ้นเอง
6. มีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบนี้ไม่ได้หมายถึงความรับผิดชอบในค่าจ้างหรือในตำแหน่งหน้าที่ แต่รับผิดชอบในความเป็นคนเมื่อทำอะไรพลาดไป มันเสียหายกับเขา ก็ขอโทษเขา ขอให้มีความกล้า คือ กล้าเผชิญความจริง
7. ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแก่เกษตรกร ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นบวกหรือเป็นลบ ก็ตาม เพราะผลที่เราคิดว่าเป็นลบ อาจเป็นบวกสำหรับเขาก็ได้
8. อดทน ซื่อสัตย์ วางเฉย ใจกว้างและให้อภัย อดทน คือ ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นถนอมใจตัวเองเอาไว้ว่าให้ซื่อสัตย์ ถึงจะปฏิบัติขัดแต่ไม่ขัดใจ เพราะเราไม่พูดทะเลาะกับใคร ให้วางเฉย และที่สำคัญต้องใจกว้างและให้อภัยเขา
9. ต้องมีคุณสมบัติของความเป็นครู ต้องรู้ตัวเองเสมอว่า เราไม่ได้ให้ใคร แต่ใจมัน ตรงกันต่างหากถึงรับได้
การเข้าถึงเกษตรกร
ให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีคำว่านักวิชาการ ชาวบ้านหรือเกษตรกร และไม่แบ่งประเภทของกลุ่มคนใด ส่วนการเปิดรับหรือการเข้าถึงกันระหว่างนักส่งเสริมฯ กับเกษตรกรนั้น ขอให้เราทำจากใจให้ดีที่สุด แล้วก็ความดี เรามีอยู่ในใจ ใครที่เขามีใจตรงกับเรา เขารับได้ก่อน มันเรื่องของเขา ไม่ต้องไปเจาะจงต่อกัน อย่างที่เขาบอกว่า "ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง”
ทำไมเกษตรกรไม่เปิดรับนักส่งเสริมฯ มีสองด้าน คือ
1. เราอาจจะเข้าไม่ถึงเขา ให้สำรวจตัวเองก่อน
2. เขามีกรรมอยู่ในใจ กรรมคือการยึดติด การชำระกรรมนี้มันต้องเจ็บตัวมนุษย์ไม่มี อะไรสอนได้ดีได้เท่ากับความเจ็บปวด ต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อน วันหนึ่งเมื่อเขาเจ็บตัวเมื่อไร เราก็พร้อมที่จะไปช่วย
เกษตรกรควรทำตัวอย่างไรในปัจจุบันนี้
นักส่งเสริมฯ อย่าไปคิดว่าเขาจะต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ธรรมชาติเขามีเขาต้องเป็นตัวของตัวเอง และอย่าให้เขาหวังพึ่งราชการหรือพึ่งคนอื่น ให้พึ่งตัวเองสำคัญที่สุด
เกษตรกรและนักส่งเสริมฯ จะเข้ากันได้อย่างไร
มนุษย์…เข้าใจกันไว้ ถ้าให้ใจกันไว้ ก็จะเข้าใจกันได้เอง คนเราให้ใจกันแล้ว ทำอะไรผิดใจกันก็ไม่โกรธกันรัฐบาลควรจะสนับสนุนให้นักส่งเสริมฯ ทำงานร่วมกับเกษตรกรได้อย่างไร
1. ผู้บริหารควรลงมาทำงานถึงพื้นดิน โดยการลงไปทำงานร่วมกับเกษตรกรอย่างเป็นธรรมชาติ ทำอย่างมีความสุข ว่า ถ้าเราทำอะไรแล้วมีความสุข ให้เขาอย่างมีความสุข เขาก็รับอย่างมีความสุข หรือพูดง่ายๆ ว่า มี “ จิตวิญญาณที่จะลงพื้นดิน ”
2. ไม่จำเป็นต้องแบ่งหน้าที่ให้เป็นของกรมใดกรมหนึ่ง จะส่งเสริมอะไรก็ตามไม่ต้องไปแยกกรมฯ ส่งเสริมได้ทุกแห่ง ทุกเรื่อง ถ้าคนเราไม่ลืมตัวว่าเรามีจิตใจให้เพื่อนมนุษย์ อยู่ในบ้านก็ส่งเสริมได้
ฝากถึงนักส่งเสริมฯรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะไปทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไปในอนาคต
1. ป.ตรี ป.โท ป.เอก ไม่มีตัวตน ชีวิตที่เรียนรู้ มันเรียนไปเรื่อยๆ เพียงแต่เราเอาสิ่ง สมมติไปกั้นเท่านั้น ขอให้มีกำลังใจที่จะเรียนเท่านั้นแหละ รู้ทุกอย่างที่ขวางหน้า เรียนรู้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เก็บมาคิดหมด อย่าไปคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเรา การคิดนี่หมายความว่า อะไรที่มันสะดุดใจเรา อย่ามองข้าม สาวลงไปหาความจริงให้ถึงที่สุด
2. อะไรที่คิดว่า มันคือ “ปัญหา” นั่นแหละ มันคือ “ความรู้” เปรียบเทียบกับเราเดินไปบนปลายหนาม ทำไมเราไม่เจ็บ เพราะว่าใจเราลงไปอยู่ที่โคน ปลายทุกอัน มันนำเราไปหาโคน แล้วโคนทั้งหมดมันอยู่ที่ไหน อยู่ในนี้ หนึ่งเดียวกันหมด ถึงได้บอกว่า ศาสตร์ทุกแขนง เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมาทั้งนั้น รากฐานตัวเดียวกันคือ อยู่ที่ “ใจ”