สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกษตรกรไทยอย่ากลัวคนชาติอื่นเลย กลัวคนไทยด้วยกันเองเถอะ


ศักดา ศรีนิเวศน์
s_sinives@yahoo.com

ประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นครัวของโลกมาช้านาน เรามีข้าว, พืชผัก และผลไม้ต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกหลายอย่าง เช่น ข้าวหอมมะลิ และทุเรียน เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น คนเวียดนาม จะเรียกผลไม้ของไทยโดยใช้คำว่า "เซียม" (Siam) นำหน้าเสมอ เช่น เซียมมังกุด (Siam Mangcut) หรือคนฟิลิปปินส์ เรียกฝรั่งของไทยว่า แบงก์คอดกัวว่า (Bangkok Guava) เป็นต้น ผู้คนในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาเซียน รู้จักผลไม้ไทยเป็นอย่างดี เหมือนกับที่รู้จักต้มยำกุ้ง เช่น ทุเรียน เราบอกว่า ทุเรียนหมอนทอง นักนิยมบริโภคในกลุ่มอาเซียน หรือประเทศผู้บริโภคต่าง ๆจะรู้จักทุกคน

กระแสความมีชื่อเสียง และนิยมบริโภคผลผลิตการเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวหอมมะลิ และผลไม้ต่าง ๆ ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รอบบ้านเรา หรือแม้ที่อยู่ห่างไกลก็อยากที่จะได้พันธุ์ของเราไปปลูก ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ประเทศรอบ ๆ บ้านจึงมีพันธุ์พืชต่าง ๆ ของไทยที่หวงนักหวงหนาแล้ว แม้กระทั่งพันธุ์ข้าวหอมปทุมธานี ทราบว่าประเทศเวียดนามก็มีพันธุ์ปลูกแล้ว ประเทศสิงค์โปร์ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกไม้ผล แต่กลับเป็นแหล่งส่งออกพันธุ์ไม้ดี ๆ จากประเทศไทย ในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน กฎหมายที่ห้ามนำพันธุ์ดีที่มีคุณภาพของไทยส่งออกไปขายต่างประเทศคงใช้ไม่ได้ ผล เพราะเพียงแค่ตา 1 ตา กิ่งหนึ่งกิ่ง เม็ดหนึ่งเม็ด หรือเมล็ดสักกำมือ ใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็สามารถที่จะขยายพันธุ์ไปทั่ว การนำออกนอกประเทศก็ไม่ใช่ของยากเย็นอะไร ก็เหมือนกับที่เราไปขโมยพันธุ์ไม้ดี ๆ ของประเทศอื่นเขามานั่นแหละ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือใครจะเก่งกว่าใคร เราคงไปต่อว่าประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้ เราควรจะต้องมองไปข้างหน้าว่าเราควรจะทำอย่างไรดี เพื่อให้ผลผลิตเป็นที่นิยมและส่งขายต่างประเทศได้ตลอด แต่ถ้ามองอีกด้านเราเองก็น่าภูมิใจที่ประเทศเหล่านี้ช่วยทำให้ผลไม้ไทยมี ชื่อเสียงดังมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมาการเกษตรไทยล้มเหลวมาตลอด เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยิ่งทำก็ยิ่งจน ชีวิตมีแต่หนี้สิน เป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงผู้อื่น และทำให้ผู้อื่นรวย โดยที่ตัวเองยังจมปลักอยู่กับความยากจน การส่งเสริมของทางราชการที่ผ่านมาก็มุ่งเน้นในเรื่องการผลิตมากกว่าการตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดมาตลอด และถ้าหากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศอื่น ๆ ที่เขามีพันธุ์ไม้ของไทยปลูกก็จะแย่งตลาดไปจากประเทศไทย อย่ากลัวประเทศอื่นเลย เราควรกลัวคนไทยด้วยกันเองดีกว่า ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการตลาดนำการผลิตขอ ยืนยันว่า เกษตรกรไทยเก่งที่สุดในโลก (ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินความจริง) จากประสบการณ์ที่ทำงานส่งเสริมการเกษตรมาเกือบ 23 ปี พบว่านักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายชอบพูดว่าคนไทยค้าขายไม่เก่ง จริง ๆ แล้วไม่ใช่ มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เป็นปัญหาทางด้านการตลาดที่เราต้องแก้ไข

ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็ก ประมาณปี พ.ศ. 2510 ในคลองดำเนินสะดวกมีเรือพ่อค้าจากไต้หวัน และญี่ปุ่นมาซื้อกล้วยหอม ส่งไปขายที่ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น หลังจากนั้นปีสองปีก็หายไป เราก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงหายไป มาทราบข้อเท็จจริงจากปากของพ่อค้าไต้หวันที่เคยมาค้าขายกล้วยหอมที่เมืองไทย ภายหลังจากนั้นอีก 22 ปี ต่อมา ว่า เดิมมีพ่อค้าชาวไต้หวันคนหนึ่ง แล่นเรือจะไปซื้อกล้วยหอมที่อินโดนีเชีย แต่เผอิญมีมรสุมพายุแรง จึงได้แวะเข้ามาเมืองไทยเพื่อหลบพายุ ปรากฎว่า สามารถหาซื้อกล้วยหอมได้เต็มลำเรือและบรรทุกกลับไปขายที่ไต้หวันและญี่ปุ่น ได้กล้วยหอมที่มีคุณภาพดี มีกำไรมาก จึงได้เดินทางมาซื้อขายหลายเที่ยวจนเพื่อนพ่อค้าทราบ ทุกคนจึงมุ่งมาหาซื้อกล้วยหอมที่เมืองไทย เมื่อมีผู้ซื้อมาก ของไม่พอ ราคาก็จึงสูง เกษตรกรไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ดำเนินสะดวก และทุ่งรังสิตแถวธัญบุรี คลองหลวงก็เริ่มลงมือปลูกกล้วยหอมเป็นการใหญ่ พ่อค้าแต่ละคนต่างก็แห่กันซื้อจนเกิดมีการตั้งจุดรับซื้อหรือสถานที่รวบรวม กล้วยหอมที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ล้งกล้วย คือเป็นพ่อค้าคนกลาง (หยง) นั่นเอง ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมผลผลิตกล้วยหอมทองส่งให้กับพ่อค้าชาวต่างชาติเจ้าประจำของตน แรก ๆ สินค้าที่ส่งไปขายก็มีคุณภาพดี ไม่มีปัญหา แต่เมื่อมีการแย่งกันซื้อตัดหน้ากันมาก หรือบางครั้งกล้วยที่รวบรวมได้ไม่เต็มระวางเรือก็จำเป็นต้องหาให้เต็มระวาง เรือ จึงเกิดปัญหาขึ้น เกษตรกรหรือพ่อค้าคนกลางบางคนเริ่มไม่ซื่อสัตย์ เพราะราคากล้วยดีมาก จึงตัดกล้วยอ่อน หรือใช้ต้นกล้วยยัดไส้ในเข่งบรรจุกล้วย เพื่อให้ได้น้ำหนัก พอส่งไปถึงต่างประเทศ ผู้ซื้อก็ล้มทั้งยืนทำให้เขาเข็ดขยาด และเลิกซื้อขายกับคนไทย หันไปซื้อกล้วยหอมจากอินโดนีเชีย และประเทศแถบอเมริกาใต้ในที่สุด แม้ว่าคุณภาพโดยรวมอาจสู้คนไทยไม่ได้ และค่าขนส่งสูงกว่า แต่ก็ยังมีความมั่นใจว่าไม่มีกล้วยอ่อนหรือกล้วยเน่า เมื่อถึงผู้บริโภคปลายทาง เกษตรกรที่ปลูกกล้วยหอมทองตามเพื่อนในขณะนั้นก็หมดตัวอย่างไม่เป็นท่า

อีกประการหนึ่งพ่อค้าไต้หวันผู้นั้นได้เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยไม่มีเรือสินค้าที่มีระวางใหญ่ ๆ เอง หรือพ่อค้าส่งออกบางรายไม่มีเรือของตนเอง จำเป็นต้องเช่าเรือต่างชาติ บางครั้งตัดกล้วยหอมรอส่งอยู่ที่ท่าเรือ เรือเข้าช้ากว่ากำหนดจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ กล้วยก็สุกและเน่า ส่งออกไม่ได้หรือบางที่เรือเข้าเร็วกว่ากำหนดตัดกล้วยส่งให้ไม่ทันเรือไม่ สามารถรอได้ก็เจ๊งอีก นี่คือเหตุการณ์เมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นเทคโนโลยีในการขนส่งสินค้าเกษตร และการคมนาคมไม่ดีอย่างเช่นขณะนี้

ไม่เพียงแค่เรื่องกล้วยหอมแค่นั้น มันสำปะหลังอัดเม็ดก็เช่นกัน มีการปลอมปนตลอด จวบจนในปัจจุบันข้าวหอมมะลิก็ปลอมปน ทุเรียนก็ตัดอ่อน ทุกอย่างที่พวกเราทำล้วนแต่ทำลายตัวเองและประเทศชาติทั้งสิ้น ถ้ารัฐยังไม่มีมาตราการที่เด็ดขาด ในอนาคตคงไม่มีใครอยากซื้อของประเทศไทยกิน หนีไปซื้อจากเวียดนาม กัมพูชา อเมริกา หรือออสเตรเลีย กินดีกว่า ขอยกตัวอย่างให้เห็นกันชัด ๆ และเกิดขึ้นทุก ๆ ปี แต่รัฐก็ไม่เคยมีมาตราการที่จะลงโทษผู้ทำให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด กรณีของทุเรียนอ่อน ส่งไปขายต่างประเทศแล้วถูกส่งกลับเพราะกินไม่ได้ ถ้าเป็นท่าน ๆ จะโกรธไหม เสียเงินแล้วกินไม่ได้ และถ้าหากในอนาคตประเทศเวียดนามส่งออกทุเรียนหมอนทองแข่งกับไทย แม้อาจจะไม่สวยเท่าของประเทศไทย แต่ทุเรียนแก่ได้กิน แถมราคาอาจถูกกว่าประเทศไทย ถ้าท่านเป็นผู้ซื้อที่เคยซื้อทุเรียน (อ่อน) ของประเทศไทย กินไม่ได้ต้องโยนทิ้งสักครั้งสองครั้ง แล้วมาซื้อทุเรียนเวียดนามและได้กิน ต่อไปท่านจะซื้อของใครกิน พอมีเรื่องทุเรียนถูกตีกลับมาครั้งใด ใคร ๆ ก็โทษเกษตรกรตัดทุเรียนอ่อนขาย ไม่เห็นมีใครโทษพ่อค้าเลย อันที่จริงแล้วก็ด้วยกัน ทั้งพ่อค้าและเกษตรกร เห็นแก่ได้ทำลายตัวเอง เพื่อนเกษตรกร และพ่อค้าอื่น ๆ ที่ดีก็พลอยเสียหายไปด้วย แม้ว่าทางราชการจะรณรงค์ ขอความร่วมมือให้เกษตรกรอย่าตัดทุเรียนอ่อนขายทุกปี ก็ยังมีปัญหาทุกปีเช่นกัน พอทุเรียนส่งออกไม่ได้ราคาตกก็มาโทษรัฐบาล ขนทุเรียนมาปิดถนน ทำไมเราไม่ไปเขกหัวเกษตรกรกับพ่อค้าที่ไม่ซื่อทำไม? คนไทยส่วนใหญ่มองอะไรไม่ค่อยไกลจนมีคำพูดติดปากเสมอ ๆ ว่า "ตอนนี้เอาแบบนี้ไปก่อนวันหน้าค่อยว่ากันใหม่" ทำอะไรแบบตีหัวเข้าบ้าน" จริง ๆ แล้วเกษตรกรไทยเราเก่งมาก ๆ ไม่ว่าจะเอาอะไรของใครมาก็จะมาทำให้ดีกว่าเจ้าของเดิม นี่คือข้อได้เปรียบของเกษตรกรไทย ผู้เขียนมีความเห็นว่า อย่าไปวิตกกลัวประเทศอื่น ๆ รอบบ้านเราเลย การทำการเกษตรนั้น สำเนาไม่ได้เหมือนเอกสาร ขนาดมีเกษตรกรเก่ง ๆ อยู่ในแต่ละจังหวัด เกษตรกรรอบ ๆ ยังไม่เก่งเหมือนกับ เกษตรกรรายนั้นนับประสาอะไรเกษตรกรเพื่อนบ้านจะมาเก่งกว่าไทย ที่กล่าวนี้มิได้ดูถูกเกษตรกรเพื่อนบ้าน ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ยุคข้อมูลข่าวสารเราคงไปปิดบังหรือหวงห้ามใครไม่ได้ เราควรจะจดทะเบียนพันธุ์พืชการเกษตรของเราให้หมด และขายลิขสิทธิ์ หรือคิดเปอร์เซ็นต์จากรายได้การจำหน่ายผลผลิตจากประเทศที่นำพันธุ์พืชของไทย ไปปลูก อย่าให้ชาติอื่นเขาลักลอบเอาทองเราไปขาย ไม่เพียงแต่ขายพันธุ์พืช เราควรขายเทคโนโลยีด้วย อย่าปล่อยให้เขาเรียนรู้เอง เพราะเมื่อเขาเก่งแล้วเราจะไม่ได้อะไรเลย เราควรมุ่งเน้นในเรื่องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต มาตราการต่าง ๆ ที่ผู้เขียนเห็นว่าเราน่าจะทำเพื่อให้ประเทศไทยเรามีความเข้มแข็งทางด้านการ ส่งออกสินค้าทางการเกษตร คือ

1. ลดต้นทุนการผลิต เมื่อให้สินค้าเกษตรไทยสามารถต่อสู้กับประเทศคู่แข่ง และเกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น เช่น
- ลดการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ ที่สามารถทำเองได้ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก
- ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยใช้วิธีทางชีวภาพ ซึ่งมีให้เลือกอย่างมากมายในบ้านเรา
- ใช้พันธุ์พืชที่เป็นพันธุ์ดีมีคุณภาพตามความต้องการของตลาด

2. การให้การศึกษาแก่เกษตรกรในแง่มุมต่าง ๆ
ที่ผ่านมานักวิชาการของไทยมักเอาความคิดและปัญหาที่ตนเองคิด มาคิคแทนเกษตรกร สรุปว่าเป็นปัญหาของเกษตรกร และเป็นความต้องการของเกษตรกร ดังนั้น จึงชอบที่จะนำความรู้ชนิดแคปซูล (Package Technology) มายัดให้เกษตรกร จริง ๆ แล้ว ปัญหาของเกษตรกรแต่ละที่แต่ละรายไม่เหมือนกัน เกษตรกรควรเรียนรู้จากประสบการณ์ของตน โดยมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงหรือเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ ต้องยอมรับว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เก่งในสิ่งที่เขาทำมากกว่านักวิชาการ ถ้าหากนักวิชาการยังให้ความรู้แบบแคปซูลแก่เกษตรกร เมื่อเกษตรกรนำไปใช้แล้วไม่ได้ผลอันเนื่องมาจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เกษตรกรก็จะขาดความเชื่อมั่นในวิชาการ การ ให้ความรู้แก่เกษตรกรต้องเป็นกระบวนการที่เกษตรกรที่เกษตรกรคิดเป็น ทำเป็น และตัดสินใจในการดำเนินการใด ๆ ด้วยตนเองได้ จึงจะเป็นการส่งเสริมแบบยั่งยืน ไม่เพียงแต่เรื่องกระบวนการผลิตเท่านั้น เกษตรกรมีความรู้ด้านอื่นอีก เช่น การวางแผนตลาดและการผลิต การจัดบันทึกข้อมูลเป็นต้น ผู้เขียนมีความศรัทธาในตัวอาจารย์สมาน ศิริภัทร กรรมการอำนวยการฝ่ายปฏิบัติการการเกษตร บริษัทสยามอุตสาหกรรมเกษตรสับปะรดและอื่น ๆ จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างมาก ซึ่งผู้เขียนเคยนำคณะข้าราชการต่างชาติปีละกว่า 16 ประเทศไปเยี่ยมชมโรงงานหลายครั้ง เมื่อหลายปีก่อน ครั้งหนึ่งท่านเคยบรรยายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรฟังที่โรงแรมแห่ง หนึ่งในจังหวัดระยองว่า "การตลาดนับว่าเป็น เรื่องที่สำคัญที่สุดในการประกอบอาชีพการเกษตรก่อนที่จะ ปลูกพืชอะไรต้องถามว่าตัวเองกินเป็นไหม ถ้ากินเองเป็นก็โอเค เพื่อนบ้านจะกินเป็นไหม ชอบไหม? ถ้ากินเป็นและชอบก็ดี มีตลาดในท้องถิ่นหรือตลาดในประเทศไหม ถ้ามีก็ยิ่งดี มีตลาดต่างประเทศไหม ถ้ามีก็วิเศษที่สุด" ผู้เขียนจำมาจนทุกวันนี้ และคอยบอกกล่าวพี่น้องเกษตรกรอยู่ตลอดว่า อย่าทำการเกษตรตามกระแส เพราะท่านจะเหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เขาบอกว่าพันธุ์ไม้ที่ไหนดีแพงเท่าไร ก็หามาปลูกโดยที่ไม่รู้ว่าตลาดเป็นอย่างไร พอผลผลิตของท่านออก ก็ออกพร้อมกับของผู้อื่นที่ตื่นกระแสเหมือนกับท่าน ๆ ก็ล้ม คนขายพันธุ์ก็รวยไปแล้ว อย่าเอาชีวิตของท่านไปฝากไว้กับคนอื่น การทำการเกษตรแบบพึ่งตนเองมากที่สุดเป็นวิธีที่ดีสุด

3. การมุ่งเน้นการผลิตการเกษตรแบบปลอดภัยจากสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์
ในอนาคตข้างหน้ามนุษย์ทุกชาติทุกภาษาจะมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพชีวิต ทุกคนจะสรรหาแต่อาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี หรือไม่มีสารเคมีเจือปนบริโภคมากขึ้น การเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีจะต้องเป็นจุดขายของประเทศ ดังนั้น รัฐจะต้องเสนอทางเลือกต่าง ๆ เช่น วิธีทางชีววิธีให้เกษตรกรใช้เพื่อลดละ หรือเลิกใช้สารเคมีในขบวนการผลิต ขณะเดียวกันรัฐต้องแสดงให้ประเทศต่าง ๆ ให้เห็นว่าเราจริงจังกับเรื่องนี้เพียงใด เช่น การไม่ยอมให้มีการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางวิทยุและโทรทัศน์เช่นเดียว กับบุหรี่ ที่ผ่านมาไม่มีผู้ใดให้ความสนใจในเรื่องการโฆษณาสารเคมีเท่ากับบุหรี่ ทั้งที่บุหรี่อันตรายน้อยกว่าสารเคมีมากมาย เพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ก็คือยาพิษที่จะปนเปือนในห่วงโซ่ของอาหารที่ผู้บริโภคทุกคน ต้องได้รับพิษเข้าไปกับอาหารที่บริโภค อาจจะเป็นเพราะผลที่เกิดขึ้นไม่เกิดในทันทีทันใด หรือมองว่าไกลตัวไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันต้องมีกฎหมายที่รุนแรงเพื่อลงโทษกับผู้จำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ที่มีเจตนาในการนำผลิตผลที่จำหน่ายไปชุบหรืออาบสารเคมีใด ๆ ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นอาชญากรที่ฆ่าคนทางอ้อม ให้ตายอย่างช้า ๆ ครั้งละมาก ๆ คน

4. ส่งเสริมการขายในประเทศและต่างประเทศ
การส่งเสริมการขายในประเทศมีทำอยู่มากแล้วแต่ในต่างประเทศ ยังมีอีกมากมายหลายประเทศที่รัฐควรเข้าไปส่งเสริมการขาย ด้วยการนำสินค้าเกษตรไปให้เขาทดลองชิม ไปสอนให้เขารู้จักรับประทาน และต้องไม่ลืมที่จะบอกเขาด้วยว่า ของดีที่สุดต้องมาจากประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งมีอำนาจการซื้อสูงและซื้อง่ายกว่าพวกฝรั่งและญี่ปุ่นเป็นไหน ๆ

5. เกษตรกรต้องมีความรู้เกี่ยวกับความ ต้องการและรสนิยม ของผู้บริโภค หรือ ประเทศผู้ซื้อในการบริโภคของแต่ละประเทศที่จะส่งสินค้าเกษตรไปขาย ตัวอย่างเช่น มะพร้าวน้ำหอม คงขายได้ดีในประเทศรอบ ๆ บ้านเราแต่ถ้าส่งไปตะวันออกกลาง เขาคงไม่ชอบเท่าไร (ยกเว้นคนไทย) ผู้เขียนเคยให้เพื่อนชาวอิสราเอลที่ไม่เคยออกนอกประเทศ และมาเที่ยวประเทศไทยเป็นประเทศแรก 4 คน ทดลองชิมมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งผ่าให้ชิมต่อหน้าทั้ง 4 คน พอดื่มน้ำมะพร้าวได้นิดเดียวก็ไม่เอาเลย เพราะเขาบอกว่ากลิ่นพิลึก จากประสบการณ์ที่ได้จากการนำคณะชาวต่างชาติปีละไม่ต่ำกว่า 16 ประเทศ ในเขตเอเชีย อาฟริกา อินเดีย และแปซิฟิค ดูงานด้านการเกษตรในเมืองไทยมา 18 ปี ๆ ละ 1 รุ่น ๆ ละ 20 - 30 คน นานครั้งละ 1 เดือน พอจะเห็นว่า ผลไม้ที่มีผู้ชอบมากที่สุด คือ มังคุด สับปะรด เงาะ กล้วยหอม และลำไย (เฉพาะเอเชีย) นอกจากนั้น มักจะมีคำพูดหรือคำถามว่ากินอย่างไร? หวานเกินไป เหม็น กินยาก แต่ก็เรียบร้อยหมดทุกชนิด เพื่อนชาวอิสราเอลคนหนึ่งมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2523 มาทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยที่ผู้เขียนยังพูดอังกฤษไม่ค่อยจะได้ สารภาพกับผู้เขียนว่า ในชีวิตเคยกินแต่สับปะรดที่อยู่ในกระป๋องเท่านั้น ไม่รู้ว่ารสชาดจริง ๆ เป็นอย่างไร และได้มากินสับปะรดสด ๆ ที่เมืองไทยเป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจและหลงไหล และหลังจากนั้นไปกินของประเทศอื่น ก็ไม่อร่อยเท่าสับปะรดเมืองไทยเลย ดังนั้น ทุกครั้งที่มาเยี่ยมประเทศไทยอาหารกลางวันของเขา คือ สับปะรด ผู้เขียนเลยอดข้าวมื้อกลางวันทุกครั้งไป

6. เกษตรกรและผู้ส่งออกต้องรักษาคุณภาพของผลผลิตและที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ รัฐต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าพืชผลการเกษตรให้เป็นไปตามความต้องการของ ประเทศผู้ค้า หรือมาตราฐานสากลที่นานาประเทศใช้ในการอ้างอิง เช่น ปริมาณการปนเปื้อนของสารเคมี ความสะอาด ความปราศจากโรคและแมลง เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องมีมาตราการ หรือกฎหมายลงโทษพ่อค้า ที่ทำผิดอย่างจงใจด้วยการส่งสินค้าที่ด้อยคุณภาพหรือปลอมปนไปภายหลัง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างรุนแรง ไม่ให้ประกอบอาชีพนี้ต่อไป

ที่กล่าวมานี้ คือ ความเห็นในมุมมองของผู้เขียนซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและ ประเทศไม่มากก็น้อย และไม่เคยคิดกลัว หรือวิตกกังวลว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเก่งกว่าไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนได้นำคณะของผู้ว่าราชการจังหวัด Dong Thap ของประเทศเวียดนาม จำนวน 12 คน มาดูงาน ด้านการปลูกไม้ผล และการป้องกันและกำจัดศัตรูไม้ผลโดยวิธีผสมผสานในจังหวัดภาคตะวันออก ซึ่ง Madam Vo Mai อดีตรองอธิบดีกรมอารักขาพืช กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ผู้นำทีมได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ตอนนี้ที่เวียดนามกำลังปลูกมะม่วงกันมากโดยเฉพาะพันธุ์มหาชนกกำลังมาแรง พันธุ์น้ำดอกไม้ อื่น ๆ ที่ประเทศไทยมี เวียดนามก็มีหมดแล้ว โดยการนำเข้าพันธุ์ไม้ ส่วนใหญ่นำเข้าทางจังหวัดหนองคาย ผ่านลาว และเข้าทางปอยเปต ประเทศกัมพูชา ไม่เว้นแม้แต่นกระจอกเทศ กำลังเกาะติด ตามประเทศไทยด้วย Modam Vo Mai บอกว่า เรื่องไม้ผลเข้ายังล้าหลังประเทศไทยกว่า 15 ปี ผู้เขียนบอกว่า รู้ไหมนักวิชาการไทยกลัวเวียดนามจะแซงไทย เขาบอกว่าไม่น่าคิดเช่นนั้น น่าจะคิดว่าทำอย่างไร ที่จะช่วยให้พวกเราในกลุ่มอาเซียนแข็งแกร่ง และเข้มแข็งมีอำนาจต่อรองในตลาดโลก แทนที่จะมามองกันเรื่องแพ้ชนะ อย่ากลัวคนชาติอื่นเลย กลัวคนไทยด้วยกันเองเถอะ

จากบทความ ดูเหมือนว่าปัญหาของเกษตรกร ยังคงเกิดซ้ำซากจนถึงปัจจุบัน ทำไมเกษตรกรหรือผู้ที่มีหน้าส่งเสริมภาคเกษตร ถึงไม่ศึกษาเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำมาเป็นแนวทางแก้ไข

สาเหตุหลักของปัญหาคือตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมภาคเกษตร
เกษตรกรที่ขาดจิตสำนึกในการผลิต ลองพิจารณาดูว่า ถ้าพ่อค้าคนกลางมารบเร้าให้ตัดทุเรียน ทั้งๆที่ทุเรียนยังไม่แก่ เกษตรกรที่มีขาดจิตสำนึก เห็นแก่รายได้ของตนเอง ยอมให้พ่อค้าตัดทุเรียนอ่อน โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นในภาพรวม เหมือนสุภาษิตที่ว่า"ปลาตายตัวเดียว เหม็นไปทั้งข้อง" รู้ทั้งรู้แต่ก็ยังทำ

เจ้าหน้าที่ส่งเสริม ที่ผ่านการทำงานด้านการส่งเสริมภาคเกษตร มองเห็นปัญหา เห็นแนวทางแก้ไข แต่ไม่ทำ ไม่ยอมทำ ไม่กล้าทำ อะไรซักอย่าง อนาคตปัญหาเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นอีก ทุกปี ทุกฤดูกาล

ในเมื่อเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ส่งเสริมกล้าพูด แต่ไม่กล้าทำ พวกเราเกษตรกร คงต้องลุกขึ้นมาพูดและทำ อย่างน้อยวันหนึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะได้พิจารณาตัวเองว่า ตำแหน่ง"ผู้ชำนาญการพิเศษ"ที่พวกเขาได้รับ คู่ควรแล้วหรือไม่?

ที่มา http://www.doae.go.th/report/sukda/ss/ss.html

view